เมื่อ วันที่ 17 สิงหาคม 2557 เวลา 13.00-16.00 น. ณ ห้องสัมมนา 2 ตึกเพียรวิจิตร ชั้น 9 คณะวิศวกรรมศาสตร์ สำนักนวัตกรรมการเรียนการสอน ฝ่ายวิชาการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดการอภิปราย เรื่อง การเขียนหนังสือ ตำราวิชาการอย่างไรให้ได้จัดพิมพ์ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การเขียนตำรา หนังสือวิชาการระดับอุดมศึกษา และเป็นการพัฒนาความรู้ ความสามารถของอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยขอนแก่นในเรื่องของการเขียน หนังสือและตำราให้มีคุณภาพทางวิชาการ และส่งเสริมสนับสนุนให้มีการเขียนผลงานทางวิชาการสู่สังคมมากขึ้น
ในการ อภิปรายครั้งนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิต รุจิวโรดม กรรมการผู้อำนวยการสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รองศาสตราจารย์ ดร.นิติพล ภูตะโชติ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมอภิปรายในเรื่อง การเขียนหนังสือ ตำราวิชาการอย่างไรให้ได้จัดพิมพ์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์มานิต รุจิวโรดม ได้กล่าวถึงการพิจารณาของสำนักพิมพ์ฯ ว่า หนังสือกับตำราวิชาการนั้นคล้ายกันมากต่างกันเพียงเรื่องการมีตัวอย่างกับ ไม่มีตัวอย่าง โดยขึ้นอยู่กับว่าการเขียนนั้นมีเป้าหมายอย่างไร (เขียนเพื่อใคร?, เขียนเพื่ออะไร?, เขียนอะไร ?, เขียนส่งให้สำนักพิมพ์ไหน?) และการเขียนอย่างไรให้สำนักพิมพ์ตอบรับตีพิมพ์หนังสือหรือตำราของอาจารย์ ซึ่งทางสำนักพิมพ์จะต้องทำการวิเคราะห์การตลาดเพื่อตัดสินใจในการตอบรับการ ตีพิมพ์ด้วย การเขียนหนังสือและตำราวิชาการให้ได้รับการตีพิมพ์นั้น รองศาสตราจารย์ ดร.นิติพล ภูตะโชติ ได้กล่าวว่า จากการที่เคยส่งต้นฉบับของตนไปยังสำนักพิมพ์ ก็ได้รับการแนะนำให้แก้ไขและเพิ่มเติมตามแนวทางดังนี้ ควรใช้ภาษาที่เรียบง่าย ถูกต้อง และให้ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย มีการยกตัวอย่างประกอบ ต้องมีองค์ความรู้ในวิชาที่เขียน เนื้อหาต้องตรงกับวิชาที่เขียน ค้นคว้าจากหนังสือ เอกสาร ตำราให้มากและจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเก่าหรือใหม่ ควรมีประสบการณ์จากการสอนในวิชานั้นๆ อย่างน้อย 3-5 ปี และที่สำคัญคือการสร้างจุดขายให้กับงานของเราและเปิดใจกว้างรับข้อเสนอแนะ ต่างๆ
มีอาจารย์ บุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบุคคลภายนอกเข้าร่วมทั้งสิ้น 50 คน โดยมีความคาดหวังในการที่จะนำเทคนิคและวิธีการไปพัฒนาผลงานทางวิชาการเพื่อ ให้ได้จัดตีพิมพ์และเผยแพร่สู่สังคมให้มากขึ้น
ข่าว : นภาพัฒน์ ชาญสมร
ภาพ : พิมพ์ใจ ศรีคำ