นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน ถ่ายทอดองค์ความรู้ AI พัฒนาระบบงานจ่ายกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์

              เมื่อวันพุธที่ 30 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา ณ ห้องคอมพิวเตอร์ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นักวิชาการโสตทัศนศึกษา จากศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ร่วมเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ให้กับบุคลากรงานจ่ายกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

              การอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การทำปราศจากเชื้อและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการเครื่องมือด้วย Smart CSSD ด้วยการจัดอบรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” ซึ่งจัดขึ้นโดยงานจ่ายกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากร ให้สามารถนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบงานและเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทำลายเชื้อและทำให้ปลอดเชื้อ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของงานจ่ายกลาง

              ในการอบรมตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น. ได้รับเกียรติจาก นายพงษ์พาณิช สอนคำหาร และ นางสาวกานต์กมล ต้นทัพไทย นักวิชาการโสตทัศนศึกษา สังกัดศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำหน้าที่เป็นวิทยากรบรรยายและฝึกปฏิบัติในหัวข้อ “การอบรมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence; AI) ในการพัฒนาระบบการทำงานในงานจ่ายกลาง”

              ในระหว่างการอบรม วิทยากรได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของนโยบายมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่มุ่งผลักดันให้ทุกหน่วยงานก้าวสู่การเป็นองค์กรดิจิทัล (Digital Transformation) อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมทั้งส่งเสริมให้บุคลากรใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม KKU IntelSphere เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ยังได้แนะนำเครื่องมือ AI อื่นๆ ที่สามารถนำมาช่วยจัดการงานด้านเอกสารได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น เช่น Napkin AI สำหรับการสรุปและจัดการข้อมูล และ NotebookLM สำหรับการสืบค้นและทำความเข้าใจเอกสารจำนวนมาก ซึ่งล้วนเป็นเครื่องมือที่ช่วยลดภาระงานและเพิ่มความคล่องตัวในการปฏิบัติงานได้เป็นอย่างดี

              การถ่ายทอดความรู้ครั้งนี้ มุ่งหวังให้บุคลากรงานจ่ายกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ สามารถนำศักยภาพของเทคโนโลยี AI ไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง เพื่อยกระดับคุณภาพและความปลอดภัยของการบริการเครื่องมือแพทย์ อันจะส่งผลดีต่อการให้บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลต่อไป

Scroll to Top