
นางสาวกานต์กมล ตันทัพไทย นักวิชาการโสตทัศนศึกษาจากศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้หัวข้อ “การประยุกต์ใช้ NapkinAI และ NotebookLM ในการพัฒนาระบบการทำงานในงานจ่ายกลาง” ให้แก่บุคลากรงานจ่ายกลาง โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ ในวันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน 2568 เวลา 08.15-17.00 น. ณ ห้องคอมพิวเตอร์ ศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอน อาคารศูนย์สารสนเทศ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การอบรมครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “การทำปราศจากเชื้อและการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการเครื่องมือด้วย Smart CSSD” ครั้งที่ 2 ซึ่งมุ่งเน้นการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบงานของโรงพยาบาล โดยมีบุคลากรงานจ่ายกลางและหน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมจำนวน 20 คน
งานจ่ายกลางเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทในการจัดหา จัดเตรียมเครื่องมือแพทย์ปลอดเชื้อให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัยสำหรับผู้รับบริการ การดำเนินงานในงานจ่ายกลางมีความซับซ้อนและประกอบด้วยหลายขั้นตอน ตั้งแต่การรับเครื่องมือที่ใช้งานแล้ว การล้างทำความสะอาด การตรวจสอบ การจัดเตรียมและการบรรจุหีบห่อ การทำให้ปราศจากเชื้อ การจัดเก็บ และการแจกจ่าย บุคลากรงานจ่ายกลางต้องจัดการกับข้อมูลจำนวนมาก เช่น คู่มือการใช้งานเครื่องมือ ระเบียบปฏิบัติงาน รายการตรวจสอบ และบันทึกการบำรุงรักษาเครื่องมือต่าง ๆ






เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ NapkinAI และ NotebookLM ที่เน้นการจดบันทึก สรุป และเชื่อมโยงความคิด รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลและสรุปข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ สามารถนำมาช่วยสนับสนุนการทำงานของงานจ่ายกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยช่วยในการจัดการองค์ความรู้ การเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นอย่างรวดเร็ว การสรุปข้อมูลสำคัญ และการสร้างเอกสาร ซึ่งจะนำไปสู่การลดข้อผิดพลาด เพิ่มประสิทธิภาพ และพัฒนาระบบการทำงานในกระบวนการทำลายเชื้อและทำปราศจากเชื้อ
โครงการอบรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บุคลากรงานจ่ายกลางมีความรู้และนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ NapkinAI และ NotebookLM มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบงานในกระบวนการทำลายเชื้อและทำปราศจากเชื้อ สามารถลดระยะเวลาเฉลี่ยการจัดการงานกระบวนการทำลายเชื้อและทำปราศจากเชื้อลงมากกว่าร้อยละ 20
การอบรมครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงบทบาทสำคัญของศูนย์นวัตกรรมการเรียนการสอนในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยสู่การปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานต่างๆ ของมหาวิทยาลัย การที่นักวิชาการโสตทัศนศึกษาสามารถนำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการศึกษามาประยุกต์ใช้ในงานด้านการแพทย์ เช่น งานจ่ายกลางโรงพยาบาล นับเป็นการบูรณาการความรู้ข้ามสาขาวิชาที่จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม