Hard Skills ที่จำเป็นในอนาคต : ทักษะดิจิทัล (Digital Skills)

รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

1.ความหมายและความสำคัญ

ในโลกยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลได้พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว คนทั่วไปสามารถครอบครองและเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสารดิจิทัลได้ง่ายขึ้น สะดวกสบายยิ่งขึ้น จากรายงาน Digital2023: Thailand (Kemp, 2023) ซึ่งสำรวจพฤติกรรมเกี่ยวกับดิจิทัลของคนไทย พบว่า  61.21 ล้านคน หรือมากถึง 85.3% ของประชากร เป็นผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต โดยใช้งานเฉลี่ยมากถึง 8 ชั่วโมง 6 นาที ต่อวัน   ส่วนใหญ่ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ โดยกิจกรรมที่ทำ 5 อันดับแรก คือ  (1) ค้นหาข้อมูล 64.69% (2) ติดตามข่าวสาร 58.1%  (3) ดูหนัง รายการ วิดีโอ 54.8%  (4) ค้นหาไอเดียใหม่ๆ 54.4%  (5) ค้นหา How To 50.6% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโลกดิจิทัลได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานและชีวิตประจำวันของคนยุคนี้ไปแล้ว และอาจกล่าวได้ว่า ทักษะที่ขาดไม่ได้สำหรับคนยุคนี้ก็คือทักษะดิจิทัล ด้วยเช่นกัน

สถาบันอาชีพแห่งชาติ (NCI) กรมการจัดหางานและสถานประกอบการสัมพันธ์ เครือรัฐออสเตรเลีย (The National Careers Institute, 2021) คาดการณ์ว่า 1 ใน 4 ของงานในปี 2568 จะเป็นงานสำหรับพนักงานที่ต้องทำงานกับเทคโนโลยีดิจิทัล  ตั้งแต่การจัดการประชุมออนไลน์ไปจนถึงการเขียนโค้ด ซึ่งไม่ได้มีไว้สำหรับนักพัฒนาแอปพลิเคชัน หรือนักไอทีเท่านั้นอีกต่อไป   มีการประเมินว่าออสเตรเลียกำลังต้องการพนักงานดิจิทัลใหม่เพิ่มอีก 250,000 คนภายในปี 2568 

ในส่วนของประเทศไทย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้สำรวจสมรรถนะบุคลากรในอนาคตสำหรับ 12 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (พ.ศ. 2563-2567) พบว่า อุตสาหกรรมดิจิทัลเป็นกลุ่มที่มีความต้องการบุคลากรทักษะสูงในจำนวนมากที่สุด รวม 30,742 ตำแหน่ง เช่น นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist), นักพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล (Digital Platform Developer), ผู้เชี่ยวชาญด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI Specialist) และนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst)   ส่วนตัวอย่างสมรรถนะที่ต้องการ เช่น การประเมินความปลอดภัย (Security Assessments), การแสดงข้อมูลและวิศวกรรมข้อมูล (Data Visualization and Data Engineering) และการวิเคราะห์และการสร้างแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ (Analytics and Computational Modelling)  

ทักษะดิจิทัลมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนากำลังคน ดังนั้น ประกาศคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษา เรื่อง รายละเอียดผลลัพธ์การเรียนรู้ตามมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา พ.ศ.2565 จึงได้กำหนดให้ทักษะด้านดิจิทัล เป็น 1 ในทักษะที่จะต้องมีในการกำหนดผลลัพธ์การเรียนรู้ตั้งแต่ระดับอนุปริญญาจนถึงปริญญาเอก

UNESCO (2023) ให้ความหมายของ ทักษะดิจิทัล คือ ความสามารถที่หลากหลายในการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล แอปพลิเคชันการสื่อสารและเครือข่าย เพื่อเข้าถึงและจัดการข้อมูล ช่วยให้ผู้คนสามารถสร้างและแบ่งปันเนื้อหาดิจิทัล สื่อสาร ทำงานร่วมกัน และแก้ปัญหาเพื่อเติมเต็มชีวิต การเรียนรู้ การทำงาน และกิจกรรมทางสังคมโดยรวมอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างสรรค์ 

2.ลักษณะและองค์ประกอบ

ทักษะดิจิทัล แบ่งได้เป็น 2 ระดับกว้างๆ คือ

ระดับเริ่มต้น (Entry-Level) เป็นทักษะการทำงานขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้อุปกรณ์ดิจิทัลและแอปพลิเคชันออนไลน์ต่างๆ ถือเป็นทักษะใหม่ นอกเหนือไปจาก ทักษะการอ่าน การเขียน และการคำนวณแบบดั้งเดิม

ระดับสูง (Higher-Level) ที่บุคคลสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเรียนรู้ของเครื่อง การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ ในการเสริมพลังและการเปลี่ยนแปลง ตลอดจนการเสริมสร้างศักยภาพสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลในศตวรรษที่ 21

ทักษะดิจิทัล อาจมองได้ว่าเป็นได้ทั้งสมรรถนทักษะ (Hard Skill)  และ จรณทักษะ (Soft Skill) ขึ้นอยู่กับระดับของความเชี่ยวชาญเฉพาะ การวัดผล หรือการทดสอบรับรองทักษะ

ส่วนที่เป็น Hard Skill คือ  ความสามารถในเชิงเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การเขียนโปรแกรม การพัฒนาเว็บไซต์ การใช้ซอฟต์แวร์วิเคราะห์ข้อมูล ออกแบบกราฟิก การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ทักษะเหล่านี้ต้องการความเชี่ยวชาญในระดับสูงและมักเรียนรู้ผ่านการศึกษาหรือการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ

ในทางกลับกัน ทักษะดิจิทัลที่ไม่ซับซ้อนเป็นทักษะทั่วไปที่จำเป็นต่อความสำเร็จในสถานที่ทำงานดิจิทัล  เช่น การสื่อสาร การทำงานร่วมกัน การแก้ปัญหา และความสามารถในการปรับตัว ถือเป็น Soft Skill ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญต่อการทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ  

ทักษะดิจิทัล จึงมีส่วนผสมของทั้ง Hard skill  และ  Soft skill  โดยแยกจากกันได้ยาก อย่างไรก็ดี ทักษะดิจิทัลส่วนใหญ่โน้มเอียงไปในทาง Hard skill  มากกว่า คือ

  • ทักษะเชิงเทคนิค (Technical skills) เป็นทักษะพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงความรู้พื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ ความสามารถในการใช้ซอฟต์แวร์ประยุกต์ และความรู้เกี่ยวกับอุปกรณ์ดิจิทัลต่างๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต และแล็ปท็อป
  • ทักษะการจัดการสารสนเทศ (Information management skills) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการจัดระเบียบ วิเคราะห์ และตีความข้อมูล  การสร้างภาพข้อมูล (Data visualization) และการจัดการฐานข้อมูล
  • ทักษะการประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud computing skills)  เกี่ยวข้องกับความรู้เกี่ยวกับแอปพลิเคชันและบริการซอฟต์แวร์บนคลาวด์ การจัดการที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ การจัดการโครงสร้างพื้นฐานบนคลาวด์ และการรักษาความปลอดภัยบนคลาวด์
  • ทักษะความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cybersecurity skills) เกี่ยวข้องกับความรู้ แนวทางปฏิบัติ ในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและองค์กร  การจัดการรหัสผ่าน ความปลอดภัยของเครือข่าย เป็นต้น
  • ทักษะการจัดการสื่อสังคมและการตลาดดิจิทัล (Social media management and digital marketing skills) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมและเครื่องมือการตลาดดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ  การสร้างเนื้อหา การกำหนดเป้าหมายผู้ชม และการวิเคราะห์ผลทางการตลาด
  • ทักษะการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน (Communication and collaboration skills)  เกี่ยวข้องกับความสามารถในการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ มารยาทในการใช้อีเมล การประชุมทางวิดีโอ และการทำงานร่วมกันเป็นทีมเสมือนจริง 
  • การรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล (Digital media literacy) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการประเมินและรับเนื้อหาดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ  ตลอดจน การระบุข่าวปลอม การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูลออนไลน์ และการทำความเข้าใจโฆษณาดิจิทัล เป็นต้น

3.กรอบความสามารถดิจิทัล

Jisc (2022) ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรในสหราชอาณาจักร ได้เสนอกรอบความสามารถดิจิทัล (Jisc Digital Capabilities Framework)  ซึ่งสรุปทักษะและความสามารถด้านดิจิทัลที่บุคคลและองค์กรต้องการ เพื่อการเติบโตในสภาพแวดล้อมดิจิทัลสำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลในสถาบันอุดมศึกษา แต่ก็สามารถนำไปใช้ในภาคส่วนอื่นได้เช่นกัน

Jisc Digital Capabilities Framework

กรอบ Jisc ประกอบด้วยความสามารถ 6 ด้าน คือ

  1. ความช่ำชองและผลิตผลทางดิจิทัล (Digital Proficiency and Productivity)  คือความสามารถใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เครือข่าย แอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และบริการต่างๆ  เพื่อทำงานให้สำเร็จ
  2. การสร้างดิจิทัล การแก้ปัญหา และนวัตกรรม (Digital Creation, Problem-solving and Innovation) เกี่ยวข้องกับ ความสามารถในการผลิตเนื้อหาดิจิทัล  การแก้ปัญหา ตัดสินใจ และตอบคำถาม การใช้แนวทางปฏิบัติใหม่ๆ และมองหาทางแก้ปัญหาใหม่ๆ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
  3. การเรียนรู้และพัฒนาดิจิทัล (Digital Learning and Development) เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ของบุคคล โดยใช้ดิจิทัลเครื่องมือในการวางแผน การติดตามและประเมินตนเอง จัดการเวลาและงาน สะท้อนและนำเสนอการเรียนรู้ หรือ ความสามารถในการสนับสนุนและพัฒนาผู้อื่นในสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล
  4. ตัวตนดิจิทัลและความเป็นอยู่ที่ดี (Digital Identity and Wellbeing) คือการจัดการกับตัวตนและชื่อเสียงในโลกดิจิทัล ตลอดจนรู้ถึงผลกระทบของการใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ บริการ และระบบดิจิทัลต่อความเป็นอยู่
  5. การรู้สารสนเทศ ข้อมูล และสื่อ (Information, Data and Media Literacies) เกี่ยวข้องกับความสามารถในการค้นหา ประเมิน จัดระเบียบ และแบ่งปันสารสนเทศ เพื่อการเรียนรู้ การวิจัย หรือวัตถุประสงค์ทางวิชาชีพอย่างมีวิจารณญาณ จัดการข้อมูลรูปแบบต่างๆ การรับและตอบสนองเนื้อหาสาระที่มาในสื่อรูปแบบต่างๆ
  6. การสื่อสารดิจิทัล ความร่วมมือ และการมีส่วนร่วม (Digital Communication, Collaboration and Participation) คือ ความสามารถในการสื่อสารผ่านสื่อและเครือข่ายดิจิทัลรูปแบบต่างๆ การมีส่วนร่วมในทีมและคณะทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดยใช้เครื่องมือและสื่อดิจิทัลที่ใช้ร่วมกัน

4.การพัฒนาทักษะ

ทักษะด้านดิจิทัล ก็เช่นเดียวกับทักษะอื่นๆ ที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ  ผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ ประสบการณ์จริง และการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเอง เช่น

  • เรียนหลักสูตรออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Coursera, Udemy และ LinkedIn Learning หรือมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการสอนหลักสูตรทักษะดิจิทัลอย่างหลากหลาย ตั้งแต่การเขียนโค้ดไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูลและการตลาดดิจิทัล ซึ่งมีทั้งแบบที่ไม่มีค่าใช้จ่ายและที่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียนเรียน
  • เข้าร่วมการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือการฝึกอบรม จะให้ประสบการณ์จริงและโอกาสในการสร้างเครือข่าย พัฒนาทักษะในด้านต่างๆ เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์ คลาวด์คอมพิวติ้ง ปัญญาประดิษฐ์
  • ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ การพบปะ พูดคุย ขอคำแนะนำและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ จากการประชุม หรือสมาคมวิชาชีพ ก็มีส่วนช่วยพัฒนาทักษะดิจิทัลได้อีกทางหนึ่ง  
  • ฝึกปฏิบัติจริงจากหน้างาน สามารถช่วยสร้างทักษะดิจิทัลในสภาพแวดล้อมจริงได้  โดยอาจเป็นการขอฝึกงาน สหกิจศึกษา Work integrated Learning ในสถานประกอบการ เพื่อพัฒนาทักษะจากโจทย์ เครื่องมือ และผู้เชี่ยวชาญในสถานประกอบการ
  • ติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มใหม่ๆ เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการติดตามข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ จึงเป็นเรื่องสำคัญ กล่าวอีกแง่หนึ่งคือต้องเป็นผู้ใฝ่การเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต

ในขณะเดียวกันผู้สอน ก็สามารถออกแบบการเรียนรู้ ตลอดจนจัดสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาทักษะดิจิทัล ได้หลายวิธี เช่น

  • ผสานเครื่องมือและเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ากับการบรรยายและงานที่มอบหมาย เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์จริงและสัมผัสกับทักษะดิจิทัล เช่น การใช้เครื่องมือการทำงานร่วมกันออนไลน์สำหรับโครงงานกลุ่ม หรือสอนการแสดงข้อมูลโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Tableau หรือ Google Data Studio
  • เปิดสอนวิชาที่เน้นทักษะดิจิทัล เช่น การรู้ดิจิทัล การเขียนโค้ด การวิเคราะห์ข้อมูล หรือความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ โดยอาจเปิดเป็นวิชาเลือกหรือเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรเฉพาะทางได้
  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกิจกรรมเสริมหลักสูตร เช่น การประกวดโครงงาน นวัตกรรมดิจิทัล การเขียนโค้ด 
  • ให้คำปรึกษาและการสนับสนุน แก่ผู้เรียนที่สนใจในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งอาจรวมถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมมาพบปะพูดคุย หรือการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว
  • จัดกิจกรรมในการพัฒนาทางวิชาชีพ เช่น การประชุมเชิงปฏิบัติการ  การอบรม สัมมนา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะดิจิทัล 
  • ส่งเสริมค่านิยมนวัตกรรม  กระตุ้นให้ผู้เรียนค้นคว้า ทดลองด้วยเครื่องมือดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ๆ และให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับความล้มเหลวและเรียนรู้จากความผิดพลาด

ในสภาพแวดล้อมการเติบโตในเศรษฐกิจและสังคมที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน ผู้เรียนและคนทำงานจำเป็นต้องใช้ทักษะดิจิทัลเป็นพื้นฐานสำคัญ ในขณะเดียวกันก็ต้องผสานบูรณาการทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการเรียนรู้  การคำนวณ  การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความสามารถในการทำงานร่วมกัน ทักษะทางอารมณ์และสังคม โดยตระหนักเสมอว่า เทคโนโลยี มาเร็ว และไปเร็ว ดังนั้นจึงต้องมีการ Upskil/Reskill อยู่อย่างสม่ำเสมอด้วย

อ้างอิง

Jisc. (2022). Building digital capabilities frameworkThe six elements defined. 

https://repository.jisc.ac.uk/8846/1/2022_Jisc_BDC_Individual_Framework.pdf

The National Careers Institute. (2021). What are digital skills and why are they in demand?. 

https://www.yourcareer.gov.au/resources/articles/what-are-digital-skills-and-why-are-they-in-demand

UNESCO. (2023, April 20). Digital skills critical for jobs and social inclusion.  

https://www.unesco.org/en/articles/digital-skills-critical-jobs-and-social-inclusion

University of Bath. (2023). Your digital skills and capabilities. 

https://www.bath.ac.uk/campaigns/your-digital-skills-and-capabilities/

World Economic Forum. (2022). Digital skills: How businesses and policymakers can respond 

to future demand in the labour market. https://www.weforum.org/agenda/2022/11/digital-skills-labour-market-future/

Leave a Comment