Hard Skills ที่จำเป็นในอนาคต : ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis Skills)

รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

1.ความหมายและความสำคัญ

“ข้อมูลคือน้ำมันใหม่” (Data is the new oil) คือวลีที่โด่งดังของ Clive Robert Humby นักคณิตศาสตร์ และสมาชิกราชบัณฑิตยสภาแห่งอังกฤษ ที่เอ่ยขึ้นครั้งแรกปี ค.ศ.2006 และได้รับการอ้างถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่ ซึ่งอุตสาหกรรมต่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูลดิจิทัล เฉกเช่นเดียวกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองในช่วงปลายทศวรรษ 1800 และต้นทศวรรษ 1900 ที่อุตสาหกรรมขับเคลื่อนด้วยน้ำมัน 

จากวลีดังกล่าว มีการขยายความว่า ข้อมูลดิบต้องได้รับการประมวลผลเช่นเดียวกับน้ำมันดิบที่ต้องผ่านการกลั่น เปลี่ยนเป็นก๊าซ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ฯลฯ เพื่อให้มีมูลค่า  ดังนั้นข้อมูลจะต้องแยกแยะและวิเคราะห์ สังเคราะห์เป็นสารสนเทศ เพื่อใช้ในการวางแผน ตัดสินใจ พัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น Facebook และ Google ที่ได้ตักตวงประโยชน์จากข้อมูลอย่างมหาศาล จากการที่ผู้คนทั่วโลกใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ในชีวิตประจำวัน สามารถทำนายพฤติกรรม นำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของแต่ละบุคคลได้ (Young Entrepreneur Council, 2021) 

คาดการณ์ว่า ในทุกวันมนุษยชาติสร้างข้อมูลถึงสองล้านล้านไบต์ (ราว 2,500,000,000,000,000,000 ไบต์) Columbia Engineering Boot Camps, 2022) เมื่อข้อมูลมีอย่างมหาศาล และจำเป็นต้องกลั่นกรองก่อนจึงจะเกิดประโยชน์ ดังนั้น ทักษะที่สำคัญและจำเป็นของการทำงานยุคนี้จึงหนีไม่พ้น  ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis Skills) นั่นเอง

ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล หมายถึง ความสามารถในรวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ และตีความข้อมูล เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงลึกที่มีความหมาย สามารถสร้างความเข้าใจ ให้คำแนะนำที่มีคุณค่า  นำไปสู่การตัดสินใจที่ชาญฉลาด 

อุตสาหกรรมและธุรกิจในปัจจุบัน ต่างต้องอาศัยข้อมูลเป็นทรัพยากรสำคัญ  ในการทำความเข้าใจแนวโน้มทางการตลาด พฤติกรรมลูกค้า และปัญหาที่ซับซ้อน  จึงต้องการบุคลากรที่มีทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสายงานนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) นักวิทยาการข้อมูล (Data Scientist) วิศวกรข้อมูล (Data Engineer) และแม้ว่าจะไม่ได้ทำงานดังกล่าว อาชีพอื่นๆ ในอุตสาหกรรมและธุรกิจยุคดิจิทัล ต่างก็ควรมีทักษะดังกล่าวนี้ติดตัวไว้มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป

2. ลักษณะและองค์ประกอบ

การวิเคราะห์ข้อมูล ถือเป็น Hard Skills เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความรู้ทางเทคนิค วิธีการเฉพาะ และความสามารถที่วัดได้  จำเป็นต้องมีความรู้ด้านการวิเคราะห์ทางสถิติ การสร้างภาพข้อมูล การทำเหมืองข้อมูล และภาษาสำหรับเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น Python หรือ R มีความชำนาญในการใช้เทคนิค วิธีการ และเครื่องมือเฉพาะเพื่อรวบรวม ชำระ  วิเคราะห์ และตีความข้อมูล  

การพัฒนาทักษะมักมาจากการศึกษา  ฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ   ทำให้การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นชุดทักษะทางเทคนิคและเฉพาะทาง  แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องอาศัย Soft Skills หนุนเสริมด้วย เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ การแก้ปัญหา ซึ่งจะช่วยให้บุคคลสามารถวิเคราะห์ข้อมูล ตีความสิ่งที่ค้นพบ และสื่อสารข้อมูลเชิงลึกแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การวิเคราะห์ข้อมูล มีองค์ประกอบดังนี้

  1. การเก็บรวบรวมข้อมูล (Data Collection) จากแหล่งต่าง ๆ เช่นฐานข้อมูล แบบสำรวจ อินเทอร์เน็ต และอื่น ๆ การรวบรวมข้อมูลนี้รวมถึงการทำความเข้าใจรูปแบบข้อมูล การชำระข้อมูล และการยืนยันความถูกต้องของข้อมูล
  2. การคำนวณทางสถิติ (Statistical Analysis) โดยใช้วิธีการและเครื่องมือทางสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็สถิติเชิงพรรณนา  สถิติเชิงอนุมาน  การวิเคราะห์ความสัมพันธ์ การวิเคราะห์การถดถอย และวิธีการทางสถิติขั้นสูงอื่นๆ
  3. การแสดงข้อมูล (Data Visualization) เป็นภาพ  แผนภูมิ กราฟ และอื่นๆ เพื่อให้สื่อสารสิ่งที่ค้นพบอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น Tableau, Power BI หรือ Python libraries 
  4. การตีความข้อมูล (Data Interpretation) ในบริบทของปัญหาหรือคำถาม  สิ่งนี้ต้องการทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดเมนความรู้ และความสามารถในการดึงข้อมูลเชิงลึกและข้อสรุปที่มีความหมายจากข้อมูล
  5. การทำเหมืองข้อมูลและการเรียนรู้ของเครื่อง (Data Mining and Machine Learning) ช่วยให้สามารถดึงข้อมูลที่มีค่าจากชุดข้อมูลขนาดใหญ่ได้ ซึ่งรวมถึงทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสำรวจ
  6. การเขียนโปรแกรมและการจัดการข้อมูล (Programming and Data Manipulation) โดยใช้ภาษา Python หรือ R  รวมถึงการจัดการข้อมูล การชำระข้อมูล และการแปลงโดยใช้ไลบรารี เช่น pandas หรือ dplyr
  7. ระบบธุรกิจอัจฉริยะ (BI) และการรายงาน (Business Intelligence and Reporting) เกี่ยวข้องกับการสร้างแดชบอร์ด การสร้างรายงาน และการให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจ 

4.การพัฒนาทักษะ 

  การพัฒนาทักษะการวิเคราะห์ข้อมูล อาจต้องอาศัยการศึกษา การฝึกอบรม ในสถาบันที่เปิดสอนอย่างเป็นระบบหรือบทเรียนออนไลน์ และเรียนรู้จากประสบการณ์จริง โดยมีแนวทางดังนี้

  1. การศึกษาความรู้พื้นฐานที่จำเป็น เช่น สถิติ การจัดการข้อมูล การแสดงข้อมูล และภาษา  Python หรือ R   และเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล 
  2. เรียนรู้เครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล เช่น Excel, SQL, Python, R และแพลตฟอร์มการแสดงข้อมูล เช่น Tableau หรือ Power BI 
  3. ฝึกฝนกับข้อมูลจริง ซึ่งปัจจุบันมีหลายหน่วยงานเปิดเผยข้อมูลและให้บริการข้อมูล เช่น สำนักงานสถิติแห่งชาติ  นำข้อมูลเหล่านั้นมาวิเคราะห์ หรือการทำงานในโครงการวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ที่สนใจ การฝึกฝนจะช่วยให้เข้าใจวิธีใช้เทคนิคต่างๆ  และมีความชำนาญมากขึ้น
  4. ฝึกการจัดการและชำระข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูลมักเกี่ยวข้องกับการทำงานกับข้อมูลที่ยุ่งเหยิง ไม่สมบูรณ์ หรือไม่มีโครงสร้าง ผู้เรียนต้องฝึกฝนเทคนิคการชำระข้อมูล  จัดการกับค่าผิดปกติ ค่าที่ขาดหายไป  และความไม่สอดคล้องกัน เรียนรู้วิธีแปลงและปรับรูปร่างข้อมูลให้เหมาะกับความต้องการในการวิเคราะห์  
  5. พัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับเทคนิคทางสถิติและการประยุกต์ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เรียนรู้เกี่ยวกับสถิติเชิงบรรยาย การทดสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์การถดถอย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และวิธีการทางสถิติอื่นๆ ทำความเข้าใจวิธีการเลือกเทคนิคทางสถิติที่เหมาะสมกับข้อมูลและโจทย์ที่ต้องการหาคำตอบ
  6. เรียนรู้วิธีสร้างการแสดงภาพข้อมูล โดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น ggplot, matplotlib หรือ Tableau เข้าใจหลักการออกแบบภาพ ใช้ประเภทแผนภูมิที่เหมาะสม และถ่ายทอดข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพผ่านการแสดงภาพ สำหรับการสื่อสารข้อมูลเชิงลึก
  7. หาโอกาสในการฝึกประสบการณ์ เช่น การฝึกงาน การทำโครงการ การร่วมมือกับทีมวิจัย  จะทำให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น
  8. แสวงหาความรู้ใหม่ๆอยู่เสมอ ติดตามข่าวสาร แนวโน้มล่าสุดและความก้าวหน้าในการวิเคราะห์ข้อมูล เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุม สัมมนาที่เกี่ยวข้องกับวิทยาการข้อมูล โดยปลูกฝังการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้เป็นอุปนิสัย

ในปัจจุบันมีหน่วยงานของรัฐและเอกชน เปิดสอน ฝึกอบรมเกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล ทั้งแบบไม่มีค่าใช้จ่ายและมีค่าใช้จ่าย ทั้งแบบได้ปริญญาและไม่ได้ปริญญาจำนวนมาก ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความเหมาะสมกับบริบทของตนเอง ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่า การวิเคราะห์ข้อมูลก็เช่นเดียวกับทักษะอื่นๆ ที่ต้องอาศัยความพยายาม การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ การปฏิบัติและปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจึงจะเกิดผลสำเร็จ

อ้างอิง

Bay Atlantic University. (2020, 29 September) Benefits of Studying Data Analytics: How to Learn 

& Skills. https://bau.edu/blog/benefits-of-data-analytics/. 

Columbia Engineering Boot Camps. (2022). 11 Data Analyst Skills You Need to Get Hired. 

https://bootcamp.cvn.columbia.edu/blog/data-analyst-skills/

Franklin University. (2023). How to Become a Data Analyst: Education & Skill Requirements. 

https://www.franklin.edu/blog/data-analytics-mvp/data-analyst-education.

Herzing University. (2023). Why Business Students Need Data Analysis Skills.  

https://www.herzing.edu/blog/why-business-students-need-data-analysis-skills

O’Connor, S. W. (2020, 23 January). 7 Must-Have Skills For Data Analysts. 

Young Entrepreneur Council. (2021, 15 July). Data Isn’t The New Oil — Time Is. 

https://www.forbes.com/sites/theyec/2021/07/15/data-isnt-the-new-oil–time-is/?sh=667070d935bb

Leave a Comment