Hard Skills ที่จำเป็นในอนาคต : ทักษะการรู้เทคโนโลยี (Technological Literacy)

รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

1.ความหมายและความสำคัญ

ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมาย เทคโนโลยีบางอย่างได้เข้ามาพลิกโฉมธุรกิจ ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรม สังคม และเศรษฐกิจของสังคมที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วในยุคปัจจุบัน ทำให้คนต้องปรับตัวและเรียนรู้กับเทคโนโลยีมากขึ้น 

เทคโนโลยี เป็นการประยุกต์ความรู้เพื่อสร้างหรือปรับปรุงอุปกรณ์ ระบบ และกระบวนการให้มีประสิทธิภาพในการให้บริการ อำนวยความสะดวกสบาย พัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความปลอดภัย หรือแก้ไขปัญหาของมนุษย์ การพัฒนาเทคโนโลยีอาจเน้นไปที่การสร้างสิ่งใหม่หรือการปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่  เพื่อทำให้ชีวิตและการทำงานของมนุษย์ เป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและเต็มที่ในด้านต่าง ๆ 

หากจะนิยามเทคโนโลยีอย่างสั้นๆ นั่นคือ “สิ่งใดก็ตามที่มนุษย์ทำขึ้นเพื่อปรับเปลี่ยนโลกธรรมชาติให้ตรงตามความต้องการของตนเอง” (Shackelford, 2007)

ตัวอย่างของเทคโนโลยีที่พบได้ในยุคปัจจุบัน เช่น เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร    (อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ การสื่อสารทางออนไลน์ สื่อสังคม อีเมล ฯลฯ)  เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ (ระบบปฏิบัติการ ซอฟต์แวร์ แอปพลิเคชัน  ระบบฐานข้อมูล ฯลฯ)  เทคโนโลยีการผลิตและอุตสาหกรรม  (หุ่นยนต์ การจัดการโรงงาน เครื่องจักร การปรับปรุงกระบวนการผลิต ฯลฯ) เทคโนโลยีพลังงาน  (พลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ การลดการใช้พลังงาน ฯลฯ) เทคโนโลยีการแพทย์และสุขภาพ (การพัฒนายา การฉายรังสี อุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ) เทคโนโลยีการคมนาคม (ยานยนต์ไร้คนขับ ระบบนำทาง รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ) เทคโนโลยีการท่องเที่ยว (การใช้แอปพลิเคชันแผนที่ การจองโรงแรมออนไลน์ ฯลฯ) เทคโนโลยีการศึกษา (การเรียนออนไลน์ แพลตฟอร์มการศึกษา ฯลฯ) เทคโนโลยีการเงินและการธนาคาร (การทำธุรกรรมทางออนไลน์ บริการการเงินผ่านแอปพลิเคชัน ฯลฯ)

เทคโนโลยี นำมาซึ่งความสะดวกสบาย โอกาส และรายได้ แต่ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ จากการใช้ไปนานๆ เช่น อาการตาเสื่อม ปวดหลัง เมื่อต้องใช้คอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่องหรือส่งผลต่อความเป็นส่วนตัว การละเมิดสิทธิ การรั่วไหลของข้อมูล การถูกหลอกลวง ส่งผลต่อตลาดแรงงาน ธุรกิจ และเศรษฐกิจ จนไปถึงการสูญเสียงาน จากเทคโนโลยีที่เข้ามาแทนมนุษย์ บางเทคโนโลยีอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานและการนำเข้าวัสดุในการผลิต    

เทคโนโลยีมีผลกระทบด้านบวกและด้านลบต่อมนุษย์  การทำความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีอย่างรับผิดชอบ รู้เท่าทัน ติดตาม ตรวจสอบผลที่ตามมาของเทคโนโลยีได้ จึงจะสามารถช่วยลดผลกระทบทางลบและสร้างคุณค่าในทางบวก ฉะนั้นการรู้เทคโนโลยี (Technology Literacy) จึงเป็นทักษะหนึ่งที่จำเป็นในการทำงานในศตวรรษที่ 21

การรู้เทคโนโลยี คือ ความสามารถของบุคคลในการใช้ จัดการ ทำความเข้าใจ และประเมินเทคโนโลยีต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยครอบคลุมทักษะและความรู้ที่จำเป็นในการใช้งาน กำกับติดตาม พัฒนาและตัดสินใจอย่างรอบรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ของชีวิต รวมถึงบริบทส่วนบุคคล การศึกษา วิชาชีพ และสังคม  (Jones, 2018; Bolick, 2019; Terra, 2023)

การรู้เทคโนโลยีเกี่ยวข้องกับการรู้ด้านดิจิทัล เพราะเมื่อบุคคลมีความเชี่ยวชาญในการใช้คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทักษะการรู้ดิจิทัลจะทำให้สามารถใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อค้นหา ทบทวน ประเมิน สร้าง และใช้ข้อมูลผ่านช่องทางต่างๆ เช่น เว็บเบราว์เซอร์ ฐานข้อมูล วารสารออนไลน์ นิตยสาร หนังสือพิมพ์ บล็อก และสื่อสังคมได้

การรู้เทคโนโลยียังมีส่วนเพิ่มทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อความก้าวหน้าในอนาคต  เพราะผู้ที่รู้เทคโนโลยี ย่อมสามารถใช้เครื่องมือต่างๆค้นหาข้อมูล  ตลอดจนบูรณาการ สังเคราะห์ข้อมูลใหม่ เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ได้กว้างขวางกว่า

รายงานวิเคราะห์และคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน เรื่อง The Future of Jobs Report 2020 โดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, 2020) ระบุว่า ทักษะการใช้ ควบคุม ดูแลเทคโนโลยี (Technology use, Monitoring and Control)  เป็นทักษะที่นายจ้างทุกภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกเห็นว่ามีความสำคัญเป็น 1 ใน 10 ของทักษะการทำงานที่จำเป็นสำหรับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4  ในปี ค.ศ. 2025    

2.ลักษณะและองค์ประกอบ

ทักษะการรู้เทคโนโลยี ถือเป็น Hard Skill เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะเชิงเทคนิคด้านในการใช้ ควบคุม ดูแลเทคโนโลยี และเครื่องมือต่างๆ   เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์เคลื่อนที่ ซอร์ฟแวร์ เป็นทักษะที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญ และมักเรียนรู้ผ่านการศึกษาหรือการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีส่วนที่เป็น Solf Skill ที่เน้นความเข้าใจในหลักการพื้นฐาน แนวคิด และผลกระทบของเทคโนโลยีด้วย (National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine, 2006; ITEA, 2007; National Research Council, 2019) ดังนั้นทักษะการรู้เทคโนโลยี จึงไม่ใช่ทักษะเดี่ยวๆ แต่เป็นชุดทักษะ (Skillset)  ที่ประกอบขึ้นมาจากหลายทักษะ เช่น

  • การใช้งานฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์พื้นฐาน เช่น ระบบปฏิบัติการ โปรแกรมต่าง ๆ เว็บเบราว์เซอร์ และอีเมล การแก้ไขปัญหาเบื้องต้นก็อยู่ในขอบเขตนี้ด้วย
  • การเขียนโปรแกรมและการคิดเชิงคำนวณพื้นฐาน  เพื่อให้เข้าใจว่าซอฟต์แวร์และแอปพลิเคชันทำงานอย่างไร
  • การสื่อสารดิจิทัล เกี่ยวข้องกับความถนัดในการใช้อีเมล สื่อสังคมออนไลน์ และแพลตฟอร์มการสื่อสารอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย  
  • การจัดการข้อมูล สามารถประเมินและวิเคราะห์ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลดิจิทัลอย่างมีวิจารณญาณ 
  • ความปลอดภัยไซเบอร์ รู้เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานในการรักษาความปลอดภัย การสร้างรหัสผ่านที่ดี การปกป้องข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลที่เป็นความลับในโลกออนไลน์
  • การรู้เท่าทันสื่อ  สามารถวิเคราะห์และเข้าใจสื่อ รับรู้ถึงแนวโน้ม มุมมอง ประเมินแหล่งที่มา และการแยกแยะข้อมูลที่เชื่อถือได้จากข้อมูลที่ไม่น่าเชื่อถือ
  • การปรับตัวตามเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้น มีความมั่นใจในการเรียนรู้และการใช้เครื่องมือใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสามารถแก้ไขปัญหาได้
  • การเป็นพลเมืองดิจิทัล เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่มีส่วนรับผิดชอบและเคารพความเป็นส่วนตัว รวมถึงการปฏิบัติตนอย่างมีความรับผิดชอบในชุมชนออนไลน์ และการมีส่วนร่วมที่สร้างผลกระทบที่ต่อสังคม

ทักษะการรู้เทคโนโลยีมีหลายระดับ แตกต่างกันตามความเข้าใจและความชำนาญในการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้ว เราอาจจัดแบ่งได้เป็น 4 ระดับ ดังนี้ (Shackelford, 2007; ITEA, 2007; National Research Council, 2019)

ระดับพื้นฐาน (Basic Level) บุคคลระดับนี้มีเข้าใจเกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีพื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น การใช้งานโทรศัพท์มือถือ  การใช้เครื่องมือประชุมออนไลน์  และการใช้แอปพลิเคชันเบื้องต้น

ระดับกลาง (Intermediate Level) บุคคลระดับนี้มีความรู้และสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการทำงาน การใช้โปรแกรมและแอปพลิเคชันเชิงเทคนิค  การจัดการข้อมูลที่หลากหลาย

ระดับสูง (Advanced Level) บุคคลระดับนี้มีความรู้และทักษะในการใช้งานเทคโนโลยีที่ซับซ้อนมาก เช่น การเขียนโปรแกรม การออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ การใช้งานเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลและการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน 

ระดับเชี่ยวชาญ (Expert Level) บุคคลระดับนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเทคโนโลยีนั้นๆโดยเฉพาะ มีความรู้ ความเข้าใจลึกซึ้งในการทำงานของเทคโนโลยีแต่ละประเภท  ตลอดจนอาจมีบทบาทในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสู่สายตาของผู้คน

4.การพัฒนาทักษะ 

การพัฒนาทักษะเพื่อให้เป็นผู้รู้เทคโนโลยีนั้น เกิดจากเรียนรู้ การฝึกฝนต่อเนื่อง ทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ  โดยอาจอาศัยแนวทางดังต่อไปนี้ (Jones, 2018; Bolick, 2019; Hasse & Wallace, 2020)

  1. ศึกษาแนวความคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น การทำงานของคอมพิวเตอร์ การใช้งานซอฟต์แวร์พื้นฐาน และการนำทางระบบปฏิบัติการ
  2. อบรมผ่านคอร์สออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีหลายแพลตฟอร์มให้เรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่หลากหลาย ตั้งแต่ทักษะคอมพิวเตอร์พื้นฐานจนถึงการเขียนโค้ดขั้นสูง ทั้งที่ต้องเสียค่าลงทะเบียน หรือฟรี เช่น Coursera, Udemy, Khan Academy, และ Codecademy  
  3. ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต แล็ปท็อป และเดสก์ท็อปคอมพิวเตอร์ ฝึกใช้ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ (iOS, Android, Windows, MacOS) เพื่อเข้าใจคุณสมบัติที่แตกต่างกัน
  4. ฝึกใช้งานแอปพลิเคชันซอฟต์แวร์พื้นฐาน เช่น เครื่องมือประมวลผลคำ สเปรดชีต และเว็บเบราว์เซอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญทั้งสำหรับงานส่วนตัวและงานมืออาชีพ
  5. ศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวออนไลน์ เข้าใจวิธีสร้างรหัสผ่านที่เหมาะสม รู้จักการโจมตีทางคอมพิวเตอร์ และวิธีปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตนเอง
  6. เรียนรู้วิธีการใช้งานสื่อสังคมอย่างมีความรับผิดชอบ เข้าใจการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวและมารยาทออนไลน์ 
  7. ฝึกใช้เครื่องมือสื่อสารดิจิทัลต่าง ๆ เช่น อีเมล โปรแกรมแชท และการประชุมทางวิดีโอ เรียนรู้วิธีการแชร์ไฟล์และการทำงานร่วมกับผู้อื่นทางออนไลน์
  8. พัฒนาทักษะในการค้นหาข้อมูลออนไลน์ที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ  เรียนรู้วิธีการประเมินแหล่งข้อมูลและหลีกเลี่ยงข้อมูลผิด
  9. เรียนรู้เกี่ยวกับการเขียนโค้ดและโปรแกรมพื้นฐาน จากเว็บไซต์ เช่น Codecademy และ freeCodeCamp ที่มีบทเรียนเขียนโค้ดสำหรับผู้เริ่มต้น
  10. ติดตามข่าวสารและแนวโน้มเทคโนโลยี จากเว็บไซต์ บล็อก และพ็อดแคสต์ทางเทคโนโลยี เพื่อที่จะรับข้อมูลเกี่ยวกับข่าวสารและการพัฒนาล่าสุด หรือเข้าร่วมการประชุม สัมมนา เพื่อเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเราต้องเปิดรับการเรียนรู้ต่อเนื่องและปรับปรุงทักษะอย่างสม่ำเสมอ ภายใต้เงื่อนไขว่าเราไม่อาจเป็นผู้เชี่ยวชาญได้ทุกเรื่อง แต่เราสามารถที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน รู้เท่าทันเทคโนโลยีได้  

อ้างอิง

Bolick, C. M. (2019). Integrating Technology Literacy in K-12 Education: A Framework for 

Effective Instruction. IGI Global.

Jones, A. C. (2018). Technological Literacy in the 21st Century: The Role of Education. Journal 

of Educational Technology, 15(3), 127-140.

Hasse, C. & Wallace, J.(2020).Technological Literacy Towards a reconsideration of 

technological literacy. https://technucation.dk/en/concepts/technological-literacy

ITEA – International Technology and Engineering Educators Association. (2007). Technological 

literacy for all: A rationale and study for the study of technology. Reston.

National Research Council. (2019). A Framework for K-12 Science Education: Practices, 

Crosscutting Concepts, and Core Ideas. National Academies Press.

National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine. (2006). Tech Tally: Approaches to 

Assessing Technological Literacy. Washington, DC: The National Academies Press. https://doi.org/10.17226/11691.

Shackelford, R. (2007). Technological Literacy: A New Basic for Inclusion in the University’s 

CORE Curriculum. https://www.bsu.edu/-/media/WWW/ 

DepartmentalContent/Senate/AgendasMinutes/200708/techlit2.pdf

Terra, J. (2023). What is Technology Literacy? https://www.simplilearn.com/ 

what-is-technology-literacy-article

 World Economic Forum.  (2022, December 6). The Future of Jobs Report 2020

https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2020/

Leave a Comment