Soft Skills ที่จำเป็นในอนาคต
การทำงานร่วมกัน (Collaboration)

ผู้เรียบเรียง: รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เนื้อหา
1.ความหมายและความสำคัญ
2.ลักษณะและองค์ประกอบ
3.การพัฒนาทักษะ 
4.เครื่องมือ
5.อ้างอิง

1.ความหมายและความสำคัญ

การทำงานร่วมกัน (Collaboration) คือ ความสามารถของคน หน่วยงาน หรือองค์กรตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน ทุ่มเทความพยายามและความเชี่ยวชาญ ทำงานแบบประสานสอดคล้อง เพื่อให้สำเร็จหรือบรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ  (Gratton & Erickson, 2007; The Australian Council for Educational Research Ltd. , 2020; Association for Intelligent Information Management, 2023) 

ในแง่ของการเรียนรู้ การทำงานร่วมกัน ยังหมายถึง ความสามารถในการแบ่งปันความคิดอย่างเปิดเผยร่วมกับบุคคลอื่น เพื่อหาคำตอบ หาแนวทางแก้ไขร่วมกันสำหรับประเด็นเฉพาะ เป็นความสามารถในการรวมแนวคิด ความเชื่อ และทฤษฎีต่างๆ เข้าด้วยกัน เป็นคำอธิบาย หรือทางออกที่เป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนถึงความหลากหลายของกลุ่มเอง (The Management Development Institute of Singapore, 2022)

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้สถานประกอบการ ไม่ถูกจำกัดด้วยพื้นที่และเวลาอีกต่อไป เราสามารถทำงานข้ามประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย และทำงานได้ไม่ต่างจากการอยู่ในห้องเดียวกัน ในขณะที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ความต้องการบุคลากรที่ทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน  

ในศตวรรษที่ 21 ทักษะการทำงานร่วมกัน จึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิตการเรียนรู้และการทำงาน โดยไม่จำกัดว่าจะเป็นงานระดับเล็กหรือระดับใหญ่ หรืออยู่ในองค์กรขนาดใด  เมื่อบุคลากรทำงานร่วมกันจะเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล มากกว่าการทำงานลำพังคนเดียว  การทำงานร่วมกันในสถานประกอบการ  จะเป็นตัวช่วยกระจายงานให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ป้องกันไม่ให้คนใดคนหนึ่งในทีมมีภาระงานที่มากเกินไป อีกทั้งยังสามารถเพิ่มแรงจูงใจและเพิ่มการมีส่วนร่วม  ซึ่งจะเพิ่มผลผลิต เพิ่มผลกำไร  เพิ่มนวัตกรรมและความสำเร็จของโครงการ  ความสำคัญดังกล่าวเห็นได้จาก ภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ P21 (The Partnership for 21st  Century Skills, 2019) ได้กำหนดให้ การทำงานร่วมกัน เป็นหนึ่งใน 4C ตามกรอบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Framework) ได้แก่ (1)Creativity-ความคิดสร้างสรรค์, (2)Critical thinking-การคิดเชิงวิพากษ์, (3)Communication-การสื่อสาร และ (4)Collaboration-การทำงานร่วมกัน  

21st Century Learning Framework

บุคลากรที่มีทักษะการทำงานร่วมกัน  ถือว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าขององค์กร เพราะบุคคลเหล่านี้มักจะทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี เมื่อหลายทีมหรือหลายแผนกสามารถทำงานร่วมกันได้  ก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและทักษะของทุกคนได้ สภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดการทำงานร่วมกัน จึงเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานยุคปัจจุบัน

การทำงานร่วมกัน มีความสำคัญต่อองค์กร ดังนี้

  • ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้และทรัพยากร  
  • ทำให้เกิดการทำงานข้ามทักษะและเครือข่าย 
  • พัฒนาระดับความผูกพันของบุคลากร
  • ช่วยให้เกิดความคุ้มค่า ความคิดสร้างสรรค์ และการแข่งขันได้มากขึ้น 
  • ความพึงพอใจของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น 
  • ความพึงพอใจของพนักงานเพิ่มมากขึ้น 
  • การเห็นภาพรวมขนาดใหญ่ร่วมกัน
  • ช่วยพัฒนาองค์กรให้มีความยืดหยุ่น 
  • สร้างความผูกพันธ์ของพนักงาน
  • ช่วยดึงดูดคนมีความสามารถสูงเข้ามาทำงาน
  • เร่งความเร็วทางธุรกิจให้มากขึ้น
  • อัตราพนักงานที่ทำงานกับองค์กรเป็นเวลานานเพิ่มสูงขึ้น
  • เกิดแนวคิดใหม่ๆ
  • การร่วมงานที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
  • ผลผลิตส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น
  • ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น

2.ลักษณะและองค์ประกอบ

การบรรลุเป้าหมายร่วมกัน (Common Goal) จำเป็นต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันในทีมตามหน้าที่ (Functional Teams) การทำงานร่วมกันในโครงการที่มีกำหนดเวลา (Time-limited Project Teams) หรือ การทำงานร่วมกันข้ามสายงาน (Cross-functional Management Teams) ทักษะการทำงานร่วมกัน ต้องใช้การผสมผสานระหว่างมนุษยสัมพันธ์ การแก้ปัญหาและทักษะการสื่อสารที่จำเป็นสำหรับกลุ่มในการทำงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน  ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญมากขึ้นเมื่อทำงานกับผู้อื่นในระยะยาวและแบบยั่งยืน

การทำงานร่วมกันคล้ายกับความร่วมมือ (Cooperation) แต่ความร่วมมือ เป็นการทำงานกับผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตนเอง ขณะที่การทำงานร่วมกันนั้นเป็นการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน การทำงานร่วมกัน ต่างจากการทำงานเป็นทีม (Teamwork) ตรงที่ความร่วมมือไม่ได้เป็นแบบลำดับขั้น ทุกคนมีสถานะเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงความอาวุโส  สามารถทำงานร่วมกับสมาชิกในทีมเอง หรือจากแผนกอื่น ๆ รวมถึงองค์กรอื่น ๆ ได้ (Civil Service College, 2021)

ลักษณะสำคัญของทักษะการทำงานร่วมกัน  (The Partnership for 21st  Century Skills, 2019) มีดังนี้

  • แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและให้เกียรติกับทีมงานที่หลากหลาย
  • ใช้ความยืดหยุ่นและความเต็มใจที่จะเป็นประโยชน์ในการประนีประนอมที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน
  • รับผิดชอบร่วมกันสำหรับการทำงานร่วมกัน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแต่ละคนที่ทำโดยสมาชิกในทีมแต่ละคน

องค์ประกอบของทักษะการทำงานร่วมกัน สรุปได้ดังนี้ (Evan, 2020)

  • การวางแผนและตัดสินใจ คือ การตัดสินใจร่วมกับกลุ่มว่าจะบริหารงานหรือโครงการให้สำเร็จได้ดีที่สุด  โดยการมอบหมายบทบาท หน้าที่ ใช้ทักษะการเจรจาต่อรอง หรือการแก้ปัญหาความขัดแย้ง เห็นชอบในเป้าหมายและวิธีการในการทำโครงการหรืองานให้สำเร็จ
  • สื่อสารการคิด โดย สื่อสารภายในทีมอย่างเปิดเผย เพื่อแบ่งปันข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำงาน หาความชัดเจนเกี่ยวกับความคิดของผู้อื่น แสดงออกด้วยความเคารพว่าความคิดนั้นสมเหตุสมผลหรือขาดหายไปในทางใดทางหนึ่ง หามุมมองทางเลือกและความคิดเห็นจากสมาชิกทุกคนในกลุ่ม ขยายความเกี่ยวกับคำอธิบายของผู้อื่น
  • ให้ทรัพยากร ความคิด และพยายามสนับสนุนสมาชิกของกลุ่ม  ตามความจำเป็น รับผิดชอบงานที่มอบหมายและคุณภาพงานของตนเอง ตรวจสอบความคืบหน้า ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับงานของผู้อื่น
  • ตรวจสอบ สะท้อนผล และปรับกระบวนการของแต่ละบุคคลและทั้งกลุ่ม แสดงคืบหน้า ปรับกระบวนการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ระบุอุปสรรคและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ย่อมรับในความผิดพลาดและพร้อมให้อภัยผู้อื่น

กรอบการพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกันของ ACER  (The Australian Council for Educational Research Ltd., 2020) แสดงองค์ประกอบหลัก  3 เกลียว (Strands) ของการทำงานร่วมกัน คือ 

  1. การสร้างความเข้าใจร่วมกัน (Building Shared Understanding) มีองค์ประกอบย่อย 3 ด้าน (Aspect)  คือ 1.1 การสื่อสารกับผู้อื่น 1.2 รวมทรัพยากรและสารสนเทศ 1.3  การเจรจาต่อรองบทบาทและความรับผิดชอบ
  2. การมีส่วนร่วม (Collectively Contributing) มีองค์ประกอบย่อย 3 ด้าน คือ 2.1 การมีส่วนร่วมในกลุ่ม 2.2 ยอมรับผลงานของผู้อื่น 2.3 มีส่วนร่วมกับบทบาทและความรับผิดชอบ
  3. การควบคุม (Regulating) มีองค์ประกอบย่อย 3 ด้าน (Aspect)  มีองค์ประกอบย่อย 4 ด้าน คือ 3.1 ตรวจสอบให้แน่ใจว่าการมีส่วนร่วมเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ 3.2 แก้ปัญหาความแตกต่าง 3.3 รักษาความเข้าใจร่วมกัน 3.4 ปรับพฤติกรรมและส่วนร่วมเพื่อผู้อื่น
ACER’s skill development framework for collaboration

3.การพัฒนาทักษะ 

ทักษะทำงานร่วมกัน ก็เช่นเดียวกับทักษะการสื่อสาร ที่ควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก และสามารถพัฒนาทักษะเพิ่มได้เมื่อโตขึ้น  ครูผู้สอนสามารถพัฒนาทักษะของการทำงานร่วมกันให้กับผู้เรียน ในสภาพแวดล้อมการทำงานจริง สภาพแวดล้อมทางสังคม และด้านอื่น ๆ ของชีวิต ได้ทั้งในและนอกห้องเรียน   ผู้เรียนเองก็สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาทักษะได้อีกด้วย ผ่านการเรียนรู้แบบร่วมมือ  (Cooperative Learning)  โดยสร้างการตระหนักรู้ว่าเราอยู่ท่ามกลางผู้คนนับพันที่มีมุมมองและจุดยืนที่แตกต่างกัน แล้วจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราอยู่กับคนที่มีมุมมองตรงกันข้าม ซึ่งหากผู้เรียนรู้วิธีจัดการกับสถานการณ์ เข้าใจผู้อื่นและสามารถทำงานร่วมกันได้   ก็จะบรรลุเป้าหมายร่วมกันได้  (Center for Teaching Innovation Cornell University, 2023)

บัณฑิตวิทยาลัยศึกษาศาสตร์และการพัฒนามนุษย์  มหาวิทยาลัยจอร์จวอชิงตัน  (Graduate School of Education and Human Development, 2017)  แนะนำ 10 กลยุทธ์เพื่อสร้างความร่วมมือของผู้เรียน ดังนี้ 

  1. จัดกลุ่มผู้เรียนให้ทำงานร่วมกัน ให้ผสมผสานความสามารถ จุดอ่อน จุดแข็ง และมีความหลากหลาย  
  2. ปรับขนาดกลุ่มเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด หากกลุ่มเล็กเกินไป ความคิดและการอภิปรายอาจไม่หลากหลายหรือมีพลังเพียงพอ หากใหญ่เกินไป ผู้เรียนบางคนจะไม่มีส่วนร่วม 
  3. สอนผู้เรียนถึงวิธีการฟังซึ่งกันและกัน สอนให้สบตา หลีกเลี่ยงการขัดจังหวะ และพูดประเด็นสำคัญซ้ำๆ – มีประโยชน์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
  4. ตั้งกฎการใช้ถ้อยคำและการทำงานร่วมกัน สอนนักเรียนถึงวิธีการชี้แจงประเด็น วิธีถอดความ วิธีไม่เห็นด้วยอย่างสร้างสรรค์ และวิธีต่อยอดจากการมีส่วนร่วม
  5. ตั้งเป้าหมายและผลลัพธ์ที่คาดหวังให้ชัดเจน
  6. กำหนดบทบาทให้กับสมาชิกของแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้นำ ผู้บันทึก  และผู้ตรวจสอบ เมื่อกำหนดบทบาทแล้ว ผู้เรียนจะสามารถเข้าใจสิ่งที่คาดหวังได้ดีขึ้น และต้องทำหน้าที่ของตนให้สำเร็จ
  7. ใช้ปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริง ไม่ใช่ปัญหาในจินตนาการ  เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม คดีความ ปัญหาสังคม   ยิ่งไปกว่านั้น เลือกปัญหาจากชุมชนของผู้เรียนเองและท้าทายให้เกิดความพยามแก้ไขปัญหา
  8. พิจารณาให้แต่ละกลุ่มทำงานที่แตกต่างกัน ด้วยการแก้ปัญหาคนละส่วน ซึ่งจะหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่ไร้เหตุผลหรือการ “ยืม” งานของกันและกันได้ดีขึ้น
  9. เล่นเกมเพื่อให้ผู้เรียนอุ่นเครื่อง
  10. ประเมินแต่ละกลุ่มตามข้อดีของตัวเอง เช่น ให้คะแนนตามการบรรลุเป้าหมายได้ดีเพียงใด, ผู้เรียนแต่ละคนทำหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับมอบหมายอย่างไร ตลอดจนยังสามารถให้รางวัลตามแขนงต่างๆ เช่น การสนทนาที่ดีที่สุด การวิจัยที่ดีที่สุด หรือวิธีแก้ปัญหาที่เป็นต้นฉบับมากที่สุด

Brandon Stapper (2018) ได้เสนอ แนวทางพัฒนาความร่วมมือในที่ทำงาน 9 ประการ  ดังนี้

  1. แบ่งปันวิสัยทัศน์ (Share a Vision) ทีมที่ดีจะมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่างานที่ทำในแต่ละวัน ควรให้ทุกคนในทีมอธิบายความคิด แสดงความเห็นในทุกๆ รอบการประชุม 
  2. อธิบายความคาดหวังตั้งแต่เริ่มต้น (Set Expectations Early) พนักงานบางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าการมาทำงานร่วมกันนั้นเพื่ออะไร จึงควรต้องอธิบายความคาดหวังให้กับสมาชิกแต่ละคนรู้ว่าเราคาดหวังอะไรและทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น  
  3. สร้างตัวชี้วัดความสำเร็จ (Establish Metrics)  เพื่อให้ทุกคนรู้ว่าผลงานของสมาชิกจะได้รับการประเมินอย่างเท่าเทียม ให้สร้างตัวชี้วัดที่ชัดเจน เช่น กรอบเวลา ว่าใช้เวลาเท่าไนในการทำงานแต่ละอย่าง    ตัวชี้วัดประสิทธิภาพควรขึ้นอยู่กับว่าแต่ละคนทำงานได้ดีเพียงใด และไม่ควรใช้ใครบางคนเป็นมาตรฐาน
  4. ใช้ประโยชน์จากจุดแข็ง (Capitalize on Strengths) สมาชิกแต่ละคนมีข้อแตกต่างด้านจุดแข็งและจุดอ่อน ให้หาจุดแข็งของสมาชิกแต่ละคน มอบงานที่สร้างโอกาสในการใช้จุดแข็งนั้นๆ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของทีม 
  5. ส่งเสริมแนวคิดใหม่  (Encourage New Ideas) ให้สมาชิกในทีมแบ่งปันแนวคิดได้อย่างสบายใจ  สร้างความมั่นใจว่าสมาชิกจะสามารถแสดงความคิดได้อย่างเปิดกว้าง 
  6. สร้างกลุ่มงานข้ามสายงาน (Create Cross-Functional Work Groups)   ซึ่งจะช่วยให้เรียนรู้จากกันและกัน สามารถทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นสำหรับในโครงการในอนาคต ทำให้สมาชิกมองเห็นว่า ความรับผิดชอบส่วนเล็กๆส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจ และความสำเร็จโดยรวมของทีม
  7. รักษาสัญญา (Keep Your Promises) การให้สมาชิกนำเสนอความคิดเห็นได้อย่างเปิดกว้าง หัวหน้าที่จะต้องรักษาสัญญาว่า จะไม่โกรธหรือทำให้สมาชิกอับอาย หากแนวคิดนั้นไม่มีประโยชน์กับทีม สัญญาที่หัวหน้าที่ต้องให้ คือ ยังคงให้การสนับสนุนสมาชิกเช่นเดิมแม้ความคิดนั้นจะยังไม่ดีพอ
  8. สร้างความสัมพันธ์แบบทีมหลังเลิกงาน (Build Team Relationships After Work) เช่นการสังสรรค์ การท่องเที่ยว จะทำให้สมาชิกมีความผูกพันธ์โดยไม่ต้องบังคับ  สามารถสร้างความรู้สึกดีของการทำงานร่วมกันอย่างมากระหว่างสมาชิกในทีม และเสริมสร้างขวัญกำลังใจด้วย
  9. ฉลองความสำเร็จของการทำงานร่วมกัน (Celebrate Collaboration) เมื่อไรก็ตามที่สมาชิกในทีมทำงานร่วมกัน และเพิ่มผลงานในทิศทางที่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดเรื่องดีกับธุรกิจ และเข้าใกล้ความสำเร็จ ต้องมีการแสดงความยินดี เช่น  ส่งข้อความ การเรียกเสียงปรบมือในห้องประชุม การแสดงออกง่าย ๆ เหล่านี้มีความหมายอย่างมากต่อสมาชิกในทีมและเป็นแบบอย่างให้ผู้อื่นด้วย   

4.เครื่องมือ

การทำงานร่วมกันจำเป็นต้องอาศัยเครื่องมือ (Collaboration Tools) สำหรับการสื่อสาร การแก้ไขปัญหา พัฒนาผลิตภัณฑ์ แลกเปลี่ยนทรัพยากร ผู้สอนตลอดจนหัวหน้าทีม อาจประยุกต์ใช้เครื่องมือที่สนับสนุนการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ คือ (Eberly Center Carnegie Mellon University, 2023)

  • การสื่อสาร เช่น การประชุมออนไลน์, อีเมล, โปรแกรมแชท, การแชร์หน้าจอ, กระดานสนทนา เพื่อช่วยให้สมาชิกในทีมสื่อสารโต้ตอบกัน 
  • การกำหนดทีมและผู้มีส่วนร่วม เช่น สื่อสังคม, การจัดการการติดต่อ (Contact Management), โปรไฟล์ผู้ใช้ (User Profiles) เพื่อช่วยให้สมาชิกในทีมระบุบทบาทหน้าที่ในโครงการ และดึงทรัพยากรบุคคลที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม
  • การจัดการโครงการ เช่น  การติดตามงาน, การกำหนดเวลา, เส้นทางการไหลของงาน(Workflow Routing), เหตุการณ์สำคัญ (Milestones), ปฏิทิน ช่วยให้การทำงาน ติดตามงาน ประเมินงานเป็นไปอย่างราบรื่น
  • การจัดการทรัพยากร เช่น พื้นที่เก็บไฟล์, เครื่องมือช่วยค้น, ฐานข้อมูล, การติดแท็ก ช่วยให้ใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
  • การร่วมสร้าง ร่วมคิด เช่น การทำแผนที่แนวคิด, วิกิ, กระดานไวท์บอร์ดเสมือนจริง ช่วยสร้างสรรค์ระดมสมอง อำนวยความสะดวกในการโต้ตอบโดยตรงระหว่างสมาชิกในทีม  ผู้เข้าร่วมสามารถทำงานเป็นกลุ่มได้โดยตรงในการแก้ไขหรือสร้างนวัตกรรม
  • การหาฉันทามติ เช่น การทำโพล, การจัดการข้อคำถาม เพื่อสร้างข้อสรุป หรือแนวทางที่ตรงกัน
  • การนำเสนอ   เช่น การสัมมนาผ่านเว็บ (Webinars), สไลด์, การแชร์ไฟล์

กลไกสำคัญที่จะช่วยพัฒนาทักษะการทำงานร่วมกัน คือ การให้คนต้องทำงานร่วมกัน โดยอาจใช้สถานการณ์ปัญหา, ทำโครงงาน (Project), การรวมทีมเพื่อแข่งขัน โดยผู้สอน/หัวหน้า ต้องทำหน้าที่เป็นโค้ชหรือ ที่ปรึกษา เพื่อให้คำแนะนำ ช่วยเหลือ ให้ทีมบรรลุเป้าหมาย สนับสนุนและสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการทำงานร่วมกัน โดยประยุกต์ใช้เครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกัน และใช้วิธีการประเมินผลที่เหมาะสม

อ้างอิง

Association for Intelligent Information Management. (2023). What is Collaboration? 

https://www.aiim.org/what-is-collaboration.

Center for Teaching Innovation Cornell University. (2023). Collaborative Learning. 

https://teaching.cornell.edu/teaching-resources/active-collaborative-learning/collaborative-learning

Civil Service College. (2021). Understanding the Differences Between Teamwork and 

Collaboration. https://www.civilservicecollege.org.uk/news-understanding-the-differences-between-teamwork-and-collaboration-203 

Eberly Center Carnegie Mellon University. (2023). Collaboration Tools. 

https://www.cmu.edu/teaching/technology/collaborationtools.html.

Graduate School of Education and Human Development. (2017, September 8). 10 Strategies to 

Build on Student Collaboration in the Classroom. https://gsehd.gwu.edu/articles/10-strategies-build-student-collaboration-classroom

Gratton, L. & Erickson, T.J. (2007, November). Eight Ways to Build Collaborative Teams. 

https://hbr.org/2007/11/eight-ways-to-build-collaborative-teams

Selwyn School. (2019, March 18). Collaboration: An Essential Skill for 21st Century Learners. 

Stapper, B. (2018, October 18). Nine Ways To Build A More Collaborative Team. 

https://www.forbes.com/sites/forbesagencycouncil/2018/10/18/nine-ways-to-build-a-more-collaborative-team/?sh=2c438129355e.

The Australian Council for Educational Research Ltd. (2020). Collaboration: Skill Development 

Framework. https://research.acer.edu.au/cgi/viewcontent.cgi?article=1043&context=ar_misc

The Partnership for 21st  Century Skills. (2019). Framework for 21st Century Learning. 

https://static.battelleforkids.org/documents/p21/P21_Framework_Brief.pdf

Leave a Comment