Micro-Learning

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรมะ แขวงเมือง สาขาวิชาการศึกษาด้านการพัฒนาวิชาชีพ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์พรพิสุทธิ์ ดวงเงิน สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

Micro-Learning สื่อการเรียนรู้ในรูปแบบดิจิทัล ที่นำเสนอแนวคิดในการเรียนรู้และรับข้อมูลจากบทเรียนที่มีเนื้อหาในบทเรียนสั้นๆ เนื้อหาแบ่งเป็นหัวข้อเรื่องย่อยๆ โดยผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองทีละเล็กทีละน้อย ผ่านอุปกรณ์สื่อสารหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ของผู้เรียน ที่ช่วยให้ผู้เรียนออกแบบการเรียนรู้ได้อย่างเฉพาะเจาะลง ตรงตามความสนใจและความต้องการของตนเอง ในบทความนี้จะนำเสนอแนวคิดการเรียนรู้ Micro-Learning หัวใจสำคัญของการเรียนรู้แบบ Micro-Learning รวมถึงการใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ Micro-Learning เพื่อสร้างความเข้าใจและมุมมองของการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่ ภายใต้สิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมสำหรับการจัดการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลต่อไป

Micro-Learning is a digital learning media that presents concepts for learning and obtaining information from lessons that contain content in short lessons. The content is divided into sub-topics which students can learn independently, gradually, using their communication device or technological device. This allows learners to design their learning in a more specific way to suit their own interests and needs. This article is to present the concept of Micro-learning, the heart of learning micro-learning. It includes the use of learning tools to create a new understanding and perspective of learning in an effective learning environment that can be applied to self-learning and also applied to a learning design suitable for learning management in the next digital era.

ในอดีต มีคำเปรียบเทียบบุคคลที่มีช่วงความสนใจสั้น ๆ ว่า ความจำสั้นเหมือนปลาทอง แต่เหมือนกับว่าคำเปรียบเทียบนั้นไม่ไกลจากความเป็นจริงในตอนนี้เลย เมื่อรายงานการวิจัยของ Microsoft ในปี 2015 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคทั่วไปมีช่วงความสนใจลดลงเป็น 8.25 วินาทีจาก 12 วินาทีในปี 2000 ซึ่งเป็นช่วงความสนใจที่สั้นกว่าปลาทองเสียอีก (ค่าเฉลี่ยความสนใจของปลาทองต่อสิ่งเร้าอยู่ที่ 9 วินาที) นอกจากนี้ Adam Hayes (2022) นำเสนอบทความแสดงข้อมูลสำคัญของ The Human Attention Span รวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องกับความสนใจของบุคคลทั่วไป ผลการศึกษาแสดงให้เห็นตัวเลขที่น่าสนใจหลายประเด็น ได้แก่ ร้อยละ 25ของวัยรุ่นลืมรายละเอียดที่สำคัญของเพื่อนสนิทและญาติ ร้อยละ 7 ของผู้คนลืมวันเกิดของตัวเองเป็นครั้งคราว และการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าในแต่ละสัปดาห์ ร้อยละ 39 ของคนอเมริกันจะลืมข้อมูลพื้นฐานหนึ่งชิ้นหรือทำสิ่งของหายหนึ่งรายการทุกวัน พนักงานออฟฟิศจะตรวจสอบกล่องขาเข้าของอีเมล 30 ครั้งทุกชั่วโมง (หมายถึงทุกๆ 2 นาที) และจะรับโทรศัพท์มากกว่า 1,500 ครั้งต่อสัปดาห์ คิดเป็น 3 ชั่วโมง 16 นาทีต่อวัน นอกจากนี้ผู้คนเข้าใช้เว็บไซต์โดยเฉลี่ยใช้เวลาไม่ถึงหนึ่งนาที และผู้ใช้มักออกจากหน้าเว็บในเวลาเพียง 10-20 วินาที สำหรับการเข้าชมวิดิโอนั้น สถิติช่วงความสนใจค่อนข้างดีกว่าสถิติที่นำเสนอข้างต้น โดยความยาวการดูเฉลี่ยของวิดีโออินเทอร์เน็ต คือ 2.7 นาที และ ร้อยละ 59 ของผู้บริหารระดับสูงในองค์กรต้องการดูวิดีโอมากกว่าอ่านข้อความ และนอกจากนี้ผู้เรียน Generation Z และ Alpha มีรูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป คือมีสนใจความเฉพาะบุคคลและเฉพาะทาง โดยผู้เรียนในกลุ่มนี้สามารถศึกษาหาความรู้ได้จากแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ตามความสนใจโดยไม่จำเป็นต้องเข้าห้องเรียน และจากความสนใจที่เปลี่ยนแปลงไปนี้เอง ทำให้เกิดแนวคิดการทำบทเรียนขนาดเล็ก บทเรียนสั้นๆ ที่มีความกระชับในเนื้อหา ผู้เรียนสามารถนำไปใช้ได้จริง เรียกว่า Micro-Learning (ไมโครเลิร์นนิ่ง) 

Micro-Learning คือ…

Micro-Learning ได้รับการนิยามไว้อย่างน่าสนใจในหลายแง่มุมความหมาย อาทิเช่น

Todd Kasenberg (2016) กล่าวว่า Micro-Learning เป็นวิธีการสอนและนำเสนอเนื้อหาแก่ผู้เรียนในช่วงเวลาสั้นๆ ที่เจาะจงมาก โดยทั่วไปแล้วผู้เรียนจะเป็นผู้ควบคุมว่าพวกเขากำลังเรียนรู้อะไรและเรียนรู้เมื่อใด

Henry Dalziel (2016) กล่าวว่า Micro-Learning เป็นวิธีการสอนที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นการนำเสนอเนื้อหา E-Learning ที่น่าจดจำและนำไปปฏิบัติได้

Nikos Andriotis (2018) อธิบาย Micro-Learning ว่ามาจากคำภาษากรีก “micro” ที่แปลว่าเล็ก เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทำให้ E-Learning ของคุณได้รับในปริมาณน้อย ๆ เป็นสื่อการฝึกอบรมขนาดเล็กที่คุณสามารถเข้าใจได้ในเวลาอันสั้น เข้าถึงได้ในเวลาอันรวดเร็ว (ตรงกันข้ามกับหนังสือเล่มหนัก ๆ ที่คุณต้องอ่านที่โรงเรียนเพื่อศึกษา วิชา หรือ บทเรียน E-Learning ที่มีเนื้อหาเยอะๆ ซึ่งจัดอยู่ในประเภทการเรียนรู้แบบ “Macro”

Mike Tholfen (2022) กล่าวว่า Micro-learning เป็นการเรียนการสอนจริง เช่น TikTok ทำให้การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เป็นเรื่องง่าย เรียนรู้เนื้อหาในขนาดที่พอเหมาะ และผู้เรียนเคยชินกับการดูวิดีโอหนึ่งนาทีหรือสองนาที รวมไปถึง Instagram, Snapchat และ Twitter”

จากมุมมองที่นำเสนอมานั้น สรุปได้ว่า Micro-Learning คือ การเรียนรู้ที่เนื้อหาถูกแบ่งเป็นบทเรียนย่อยๆ เป็นการเรียนรู้ในระยะเวลาสั้นๆ ที่ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าต้องการเรียนด้านไหน หรือเรียนในหัวข้ออะไร ผ่าน Platfrom ที่ออกแบบมาเพื่อการเรียนรู้โดยเฉพาะ สามารถเข้าถึงได้ง่ายๆ ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง 

หัวใจสำคัญของ Micro-Learning

แนวคิดทั้งหมดของ Micro-Learning นั้น มีพื้นฐานมาจากการทดสอบความจำและการลืมของมนุษย์ของแฮร์มันน์ เอบบิงเฮาส์ นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน (Hermann Ebbinghaus, 1885 อ้างถึงใน Valamis, 2022) ที่ชื่อว่า The Forgetting Curve หรือ Ebbinghaus’ Forgetting Curve ที่อธิบายว่าธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ คือ มนุษย์ทุกคนพร้อมลืมข้อมูลใหม่ๆ ที่เพิ่งได้รับเข้ามาตลอดเวลา ทั้งลืมทันทีและจะลืมมากขึ้นตามระยะเวลาที่ผ่านพ้นไป และจากพื้นฐานของการศึกษานี้เอง ทำให้หัวใจสำคัญแนวคิดของ Micro-Learning จึงเป็นการแบ่งเนื้อหาออกเป็นส่วนเล็กๆย่อยๆ ทำให้เนื้อหากระชับ เพื่อที่ผู้เรียนสามารถเรียกคืน (Recall) เนื้อหาส่วนต่างๆ ที่เรียนรู้เมื่อเวลาผ่านไปได้ โดยหัวใจสำคัญของ Micro-Learning และการนำเสนอเนื้อหาหรือจัดการเรียนรู้แบบ Micro Learning มีองค์ประกอบสำคัญอยู่ 5 ข้อด้วยกัน คือ 

  1. เข้าใจผู้เรียน ระบุประเภทหรือระดับเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ มีรูปแบบการเรียนรู้และสภาพแวดล้อมของบทเรียนที่หลากหลาย ตรงกับจุดประสงค์และเนื้อหา
  2. เนื้อหาของคุณควรเป็นรูปแบบ Micro-Learning คือ 
  • สามารถอธิบายวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน 
  • มี (หรือไม่มี) ตัวอย่างการทำงาน และสามารถทำได้ภายในห้านาที
  1. เนื้อหา และภาพหรือข้อความในวิดีโอมีความสอดคล้องกัน เพื่อให้สามารถอัปเดตเนื้อหาความรู้ และเผยแพร่บทเรียน Micro-Learning เพิ่มเติมได้ หรือสามารถสร้าง Micro-Learning จากเนื้อหาที่มีอยู่แล้วได้
  2. Micro-Learning ควรนำเสนอได้ในแบบ platform ที่หลากหลาย ซึ่งส่วนที่ดีที่สุดของการออกแบบ Micro-Learning คือการใช้รูปแบบการเรียนรู้ต่างๆ ที่สนับสนุนประสบการณ์การเรียนรู้ ผสมผสานและจับคู่ Micro-Learning กับการเรียนรู้แบบอื่นๆ เพื่อให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
  3. Micro-Learning ต้องค้นหาง่าย เข้าถึงได้ง่าย หัวข้อหรือชื่อของ Micro-Learning ควรเป็นชื่อที่เหมาะสมและสอดคล้องกับจุดประสงค์ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงข้อมูล หรือค้นหาชื่อเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ทันทีที่ต้องการ

จากหัวใจสำคัญของ Micro-Learning และการนำเสนอเนื้อหาหรือจัดการเรียนรู้แบบ Micro Learning นั้นจะพบว่า  Micro-Learning เป็นการเรียนรู้แบบเฉพาะเจาะจง มีจุดประสงค์และเนื้อหา ระยะเวลา หัวข้อ และการเข้าถึงบทเรียนที่เฉพาะเจาะจง กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือประสบการณ์การเรียนรู้จะต้องได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับ Micro-Learning 

เครื่องมือในการเรียนรู้ Micro-Learning 

เครื่องมือในการเรียนรู้ Micro-Learning ส่วนใหญ่จะเน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Self-Learning) ผ่านอุปกรณ์ Smart Phone, Notebook และสัญญาณอินเตอร์เน็ต ลักษณะการเรียนรู้แบบ Micro-Learning ผ่าน platform ต่างๆ ในบทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างเครื่องมือในการเรียนรู้ Micro-Learning ที่สามารถเป็นทั้งเครื่องมือที่ใช้เรียนและเป็นเครื่องมือออกแบบ Micro-Learning ที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ง่าย แบ่งเป็น 5 ประเภท ได้แก่ 

  1. Microlearning videos ที่ประกอบด้วยวิดีโอสั้นๆ ซึ่งออกแบบมาเพื่อตอบสนองผลการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจงของผู้เรียน มีเนื้อหาที่เจาะจง อาทิเช่น วิดีโออธิบายหัวข้อต่างๆ, วิดิโอจากการสอนและบรรยายใน TED-Talk, Webcast/Podcasts หรือวิดีโอตัวอย่างสถานการณ์จริง เป็นต้น
  2. Microlearning apps or mobile apps ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่นำเสนอบทเรียนย่อยๆ หลากหลายหัวข้อและเนื้อหา ที่ผู้เรียนสามารถเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น Word of the day, Duolingo, InstaNerd, TED-Ed หรือ YouTube เป็นต้น
  3. Microlearning games ที่สามารถเป็นไปได้ทั้งบทเรียนและเกมการศึกษาในคราวเดียวกัน เช่น flashcards (Quizlet, Kahoot, Quizizz, Gimkit) เป็นต้น
  4. Infographics ที่นำข้อมูลหรือความรู้มาสรุปให้เป็นภาพหรือเสียงที่น่าสนใจ อาจเป็นสัญลักษณ์ กราฟ แผนภูมิ ไดอะแกรม แผนที่ เป็นต้น
  5. Social Media สามารถใช้เป็น Micro-blogging และผู้เรียนสามารถเรียนรู้ข้อมูลบางส่วนจากการรับชมเนื้อหาบทเรียนผ่านการ Streaming (สตรีมมิ่ง) หรือผู้เรียนสามารถเรียนรู้ผ่านโพสต์ Feed ของชุมชนออนไลน์ที่ผู้เรียนเข้าร่วม 

  Micro- Learning เป็นเครื่องมือที่เน้น Self-Learning หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย เข้าถึงง่าย รวดเร็ว ไม่จำกัดสถานที่และเวลา โดยผ่านการใช้อุปกรณ์ต่างๆที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่ไร้ขีดจำกัด ซึ่งการเรียนแบบ Micro-Learning ในแต่ละครั้งอาจใช้เวลาไม่นาน แต่ Micro-Learning อาจเป็นการเรียนที่เข้มข้น และต้องอาศัยการใช้ความคิดที่ลึกซึ้งในการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน

ข้อดีของ Micro-Learning

การเรียนรู้แบบ Micro-Learning ตอบสนองต่อพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัล ที่ต้องการเรียนรู้ด้วยวิธีที่ใช้เวลาน้อยลง เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา Micro-Learning มีข้อดีหลายอย่างทั้งต่อตัวผู้เรียนและผู้สอน ดังนี้

  1. รวดเร็วและยืดหยุ่น: ผู้เรียนใช้เวลาสั้นลงในการเรียนรู้แต่ละเรื่อง ตามเรื่องที่ตนเองสนใจ ผู้เรียนมีอิสระในการเรียนรู้ เรียนรู้ได้จากหลายอุปกรณ์ ทั้งในรูปแบบ online และ offline
  2. ทรงพลังและหลากหลาย:  ผู้เรียนสามารถเข้าถึงคลังเนื้อหาขนาดใหญ่ในทุกหัวข้อเรื่อง ครอบคลุมเกือบทุกสาขาวิชา ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติ มีองค์ประกอบมัลติมีเดียที่ดึงดูด มีกลยุทธ์ส่งเสริมการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่น เทคนิค Spaced Repetition คือการทบทวนและทำซ้ำวันละนิดจากเนื้อหาที่แบ่งเป็นบทเรียนขนาดเล็ก
  3. ทันสมัยอยู่เสมอ: ผู้เรียนได้เรียนรู้ข้อมูล เรียนรู้เรื่องใหม่ๆตามความรู้ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะ Micro-Learning นั้นสามารถอัปเดตความรู้ล่าสุด และปรับเปลี่ยนเนื้อหาเพิ่มเติมได้อย่างง่ายดาย

ความท้าทายของการเรียนรู้แบบ Micro-Learning

ถึงแม้จะมีข้อดีมากมาย แต่ Micro-Learning ก็มีข้อจำกัดและความท้าทายอยู่บ้าง ทั้งในส่วนของการเรียนรู้ทักษะปฏิบัติที่ซับซ้อน และในแง่มุมของการออกแบบการเรียนรู้แบบ Micro-Learning ได้แก่

  1. องค์รวมและความสอดคล้อง: การออกแบบ Micro-Learning ต้องคำนึงถึงความครบถ้วนสมบูรณ์ของเนื้อหารวมถึงการเชื่อมต่อกับเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกัน (หากรอยเชื่อมต่อของเนื้อหาไม่สอดคล้องกัน อาจทำให้ความรู้แยกส่วน ผู้เรียนไม่สามารถมององค์รวมของเนื้อหา และบูรณาการเนื้อหาเข้าด้วยกันได้)
  2. บทเรียนเฉพาะบุคคล: Micro-Learning เป็นบทเรียนที่สั้นมาก นั่นหมายความว่า หลักสูตรและเนื้อหาดั้งเดิมแบบเนื้อหาเต็มของรายวิชานั้น สามารถแบ่งออกเป็นบทเรียน Micro-Learning ได้หลายสิบบทเรียน และการพิจารณาเนื้อหาที่จะเรียนทั้งหมดนี้ รวมไปถึงการปรับแต่งบทเรียนให้เฉพาะสำหรับบุคคล และการนำเสนอบทเรียนที่เหมาะสมอาจเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งในการออกแบบ Micro-Learning
  3. การเข้าถึง: ด้วยบทเรียน Micro-Learning ต้องใช้ความรู้และเทคโนโลยีเฉพาะในการออกแบบและการใช้เข้าถึง ทำให้การออกแบบบทเรียน Micro-Learning ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าบทเรียนมีการจัดรูปแบบและปรับให้เหมาะสมตามมาตรฐาน สำหรับการเข้าถึงของผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ

สรุป

Micro-Learning ที่มีเนื้อหาในการเรียนรู้ขนาดไม่ใหญ่ และเนื้อหาในการเรียนไม่เยอะมาก ส่งเสริมการเรียนรู้ของมนุษย์ให้มีประสิทธิภาพได้ในระยะเวลาอันสั้น ทั้งยังช่วยผู้เรียนเรื่องความจำและการเรียกคืนข้อมูลของผู้เรียน ช่วยให้ความรู้เหล่านั้นย้ายเข้าไปสู่หน่วยความจำระยะยาวของผู้เรียนได้มากขึ้น นอกจากนี้บทเรียน Micro-Learning ยังช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงเนื้อหา บทเรียนตามความสนใจของผู้เรียน เข้าถึงได้หลากหลายอุปกรณ์ กล่าวได้ว่า Micro-Learning คือ การเรียนรู้แบบทันเวลา (just-in-time learning) เหมาะกับการเรียนรู้ในยุคดิจิทัลที่ผู้เรียนมีอิสระมากขึ้นในระหว่างกระบวนการเรียนรู้ สามารถเรียนรู้ได้ตามที่ตนเองต้องการอย่างต่อเนื่อง 

อ้างอิง

Andriotis N. (2018). eLearning Industry: What Is Microlearning: A Complete Guide For

Beginners. Retrieved October 26, 2022, from https://elearningindustry.com/what-is-microlearning-benefits-best-practices.

Dalziel H. (2016). 7 Tips To Effectively Plan A Microlearning Course. Retrieved October

26, 2022, from https://elearningindustry.com/7-tips-plan-a-microlearning-course.

Ebbinghaus H. (1913/1885). Memory: A contribution to experimental psychology. Ruger HA,

Bussenius CE, translator. New York: Teachers College. Columbia University.

Hayes, A. (2022). The human attention span. Retrieved October 26, 2022, from

https://www.wyzowl.com/human-attention-span/.

Kasenberg, T. (2016). Just One Thing: Microlearning, A Practitioner’s Guide. Harbinger

Knowledge Prod-ucts Pvt. Ltd. Available from www.raptivity.com/microlearning-ebook.html.

Tholfen M. (2022). TikTok as Corporate Training Support Platform. Retrieved October

26, 2022, from https://www.dominknow.com/blog/tiktok-as-corporate-training-support-platform-with-mike-tholfsen.

Valamis. (2022). Microlearning. Retrieved October 26, 2022, from https://www.valamis.com/hub/microlearning.

Leave a Comment