การเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปรมะ แขวงเมือง สาขาวิชาการศึกษาด้านการพัฒนาวิชาชีพ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อาจารย์พรพิสุทธิ์ ดวงเงิน สาขาวิชาภาษาอังกฤษ คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี

การพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ต้องอาศัยการเรียนการสอนที่ช่วยพัฒนาผู้เรียนให้เกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 กระบวนทัศน์ในการจัดการศึกษาต้องเปลี่ยนแปลงไป ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น ผู้เรียน ผู้สอน ผู้นำ รวมไปถึงชุมชน ต้องร่วมกันเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต กระบวนทัศน์ที่สำคัญที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้นั้น คือการเคลื่อนเข้าสู่ “การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered Approach)” อย่างแท้จริง รวมถึงการเชื่อมโยงสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ภายใต้แนวคิดของการพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะสำคัญในตนเอง เป็นผู้เรียนที่มีทักษะ Think Globally, Act Locally ในบทความนี้จะนำเสนอ การเรียนรู้แบบเดิมกับการเรียนรู้สมัยใหม่ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ของการสอนและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21

The development of 21st century skills require the teaching and learning process that help to develop learners to acquire the skills they need in the 21st century. The paradigm in educational management must change. People who are involved in educational management—whether they are students, teachers, leaders, or members of the community—have to work collaboratively to prepare for the future. An important paradigm that can lead to change is to move into a ” Learner-centered Approach,” which includes connecting the learning environment under the concept of developing learners acquire crucial skills for themselves. Be a skilled learner who is able to “Think Globally, Act Locally”. In this article, it will be presented about traditional learning vs. modern learning to demonstrate the need for a paradigm shift in teaching and learning to lead to a new paradigm of teaching and continuous learning in the 21st century.

องค์การสหประชาชาติจัดทำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals –SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ด้วยมุ่งหวังจะแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วแบบที่โลกกำลังเผชิญอยู่ โดย United Nations Foundation (2022) เปิดเผยประเด็นปัญหาสำคัญระดับโลกที่น่าจับตามองในปี 2565 ที่เป็นอุปสรรคต่อความก้าวหน้าด้านการสร้างความเท่าเทียม มั่งคั่ง และการมีสุขภาพดีขึ้นของประชากร ท่ามกลางสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ได้แก่ ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น การรับมือกับโควิด-19 รวมถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ความเท่าเทียมทางเพศ และความขัดแย้งด้านมนุษยธรรม เป็นต้น โดยการแก้ปัญหาของโลกที่ซับซ้อนและเข้าขั้นวิกฤตนี้ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ซึ่งการจะทำให้สำเร็จได้ต้องเริ่มต้น ที่ “การศึกษา” ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้พลเมืองทุกคนมีความรู้ความเข้าใจ มีมุมมองเชิงวิทยาศาสตร์ มีสำนึกของการเป็นพลเมืองโลก (Global Citizen) และเสริมสร้างสมรรถนะการอยู่ร่วมกันในสังคมโลก (Global Competence) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสริมสร้างทักษะที่สำคัญให้กับคนรุ่นใหม่ (Keiko Unedaya, 2022) ดังที่ องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-operation and Development – OECD) ได้ทำการศึกษาและการพัฒนาทักษะสำหรับอนาคตปี 2030 (OECD Future of Education and Skills 2030) เพื่อเตรียมพลเมืองที่มี คุณภาพสู่อนาคต โดยได้เสนอเข็มทิศการเรียนรู้ สำหรับปี ค.ศ. 2030 (OECD Learning Compass 2030) โดย OECD (2018) กล่าวว่า ผู้เรียนที่เข้าสู่วัยเรียนในปี 2018 ซึ่งในปี 2030 ก็จะเข้าสู่วัยหนุ่มสาว (อายุระหว่าง 18-26 ปี) ซึ่งกรอบการจัดการศึกษาที่ผู้สอนจะเตรียมพร้อมให้ผู้เรียนเพื่อเผชิญกับอนาคต (อนาคตที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว อนาคตที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ อนาคตที่เทคโนโลยีใหม่ๆยังตามมาอีกมากมาย ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม) ควรเป็นอย่างไร การศึกษาจะสร้างผู้เรียนอย่างไร ไปในทิศทางไหน และการที่ผู้เรียนเมื่ออยู่ในวัยหนุ่มสาวจะนำทางชีวิตตนเองและโลกได้อย่างไร ล้วนเป็นสิ่งที่นักนโยบาย นักวิจัย ผู้นำทางการศึกษา ครูอาจารย์ นักเรียน และเครือข่ายทางสังคมทั่วโลก ต้องหารือและร่วมกันกำหนดกรอบการเรียนรู้ของผู้เรียนในปัจจุบัน สมรรถนะที่ผู้เรียนควรจะรู้ในอนาคต และจากจุดมุ่งหมายในการพัฒนาสมรรถนะนั้น OECD ได้ตั้งคำถามเพื่อเป็นกรอบในการพัฒนาผู้เรียนที่สร้าง new-normal ที่เป็นเป้าหมายของการศึกษาและและพัฒนาทักษะสำหรับปี 2030 ดังนี้

1. What knowledge, skills, attitudes and values will today’s students need to thrive and shape their world? (ความรู้ ทักษะ และเจตคติอะไรที่ผู้เรียนควรมี เพื่ออาศัยอยู่และพัฒนาสังคมโลก)

2. How can instructional systems develop these knowledge, skills, attitudes and values effectively? (ระบบการเรียนการสอนจะวางระบบอย่างไร ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ และเจตคติที่มีประสิทธิภาพ)

ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในปัจจุบันต้องคำนึงถึงสมรรถนะอะไร (ความรู้ ทักษะ เจตคติและคุณค่า) ที่ผู้เรียนปัจจุบันต้องมี เพื่อที่จะออกแบบอนาคตให้มีชีวิตที่ดีขึ้น และเพื่อความผาสุกของตนเองและสังคม โดยบทความนี้จะนำเสนอกรอบแนวคิดที่ควรเปลี่ยนแปลงไปของการเรียนรู้แบบเดิมกับการเรียนรู้สมัยใหม่ในยุคศตวรรษที่ 21 และกระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปของการจัดการสอนและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21

การเรียนรู้แบบเดิมกับการเรียนรู้สมัยใหม่

รูปแบบการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิมนั้นยังคงพบเห็นได้ในปัจจุบันแม้ผ่านมาแล้วหลายร้อยปีแล้วก็ตาม ภาพของครูยืนหันหน้าไปหน้าชั้นเรียน มีกระดานดำหรือกระดานไวท์บอร์ดอยู่ข้างหลัง และถามคำถามเพื่อกระตุ้นนักเรียนให้กระตือรือร้นและตอบคำถาม แต่ความท้าทายของการศึกษาในยุคใหม่นั้น สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับระบบการศึกษา รูปแบบการเรียนรู้ของผู้เรียน และรูปแบบการสอนของครูอย่างมหาศาล เพื่อแสดงเห็นภาพความเปลี่ยนแปลงของการเรียนรู้แบบเดิมกับการเรียนรู้สมัยใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้น เพื่อให้ได้เข้าใจถึงความสำคัญของความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนในห้องเรียนแบบดั้งเดิม ไปสู่การปรับกระบวนทัศน์เพื่อเข้าสู่การเรียนการสอนศตวรรษที่ 21 (R. Gowda & V. Suma, 2017; Cummings J. B. & Blatherwick M. L.,2017; Sadeghi, R., Moslehpour S.,2007; Raboca M.,Cotoranu D.,2020)

ตารางที่ 1 การเรียนรู้แบบเดิมกับการเรียนรู้สมัยใหม่

มิติด้านการจัดการศึกษา การเรียนรู้แบบเดิมการเรียนรู้สมัยใหม่
ผู้เรียน1. รับความรู้
2. เรียนรู้จากครูและหนังสือเรียน
3. เรียนรู้แบบแยกส่วน ฝึกฝนด้วยตนเองจากห้องเรียนและครู มีเพียง four walls classroom
1. แสวงหาความรู้
2. มีการเรียนรู้อย่างอิสระ ตามความสนใจของตนเอง
3. เรียนรู้ร่วมกันกับเพื่อนร่วมชั้นและคนอื่นๆ รอบตัว หรือเรียนรู้จากนอกชั้นเรียน สร้าง global classroom
ผู้สอน1. ให้ความรู้ 
2. ผูกขาดการเรียนการสอน ครูเป็นศูนย์กลาง (Teacher-centered)
3. สอนแบบบรรยาย (lecture, talk and chalk) ใช้เทคโนโลยีพื้นฐาน
1. แลกเปลี่ยนความรู้
2. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการออกแบบการเรียนรู้ (Learner-centered)
3. จัดการเรียนการสอนแบบ active learning บูรณาการและนำเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ๆมาใช้
หลักสูตร1. บังคับ หลักสูตรรูปแบบเดียว
2. เน้นเนื้อหาสาระ
3. เฉพาะสาขาวิชา/ศาสตร์
1. ยืดหยุ่น และปรับเปลี่ยนตามบริบท
2. เน้นทักษะและสมรรถนะ
3. บูรณาการข้ามสาขาวิชา/ศาสตร์
การเรียนการสอน1. ให้ความรู้และถ่ายทอดทักษะโดยตรงให้กับผู้เรียน เชื่อว่าความรู้ตายตัว เปลี่ยนแปลงช้า
2. ใช้วิธีการสอนแบบตายตัว บรรยาย
3. เน้นว่าจะสอน ‘what’ คือจะสอนอะไร จะเรียนอะไร เรียนรู้จากการจดจำ การตั้งคำถามและคำตอบ
1. ให้กระบวนการ และชี้นำแนวทางในการหาความรู้ พัฒนาทักษะให้ผู้เรียน เพราะความรู้เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
2. ใช้วิธีการสอนที่หลากหลาย 
3. เน้นการสอน ‘why’ และ ‘how’ คือจะเรียนอะไร และเรียนรู้อย่างไร ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้
โรงเรียนและผู้นำ1. สำหรับผู้เรียนที่มีความพร้อมในการศึกษาเท่านั้น 
2. เป็นแหล่งเรียนรู้เพียงแหล่งเดียว
3. บริหารงานแบบมีลำดับชั้น
1. เป็นแหล่งศึกษาและค้นคว้าสำหรับผู้เรียนทุกคน
2. เป็นตัวกลางเชื่อมโยงแหล่งเรียนรู้จากครอบครัว และชุมชน
3. บริหารแบบมีส่วนร่วม
การประเมินทักษะการเรียนรู้1. วัดผลและการตัดสินผลการเรียน
2. ประเมินแยกส่วนออกไปจากการเรียนรู้
3. ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์
1. ประเมินผลเพื่อการเรียนรู้และการพัฒนา
2. ประเมินแบบบูรณาการเพื่อการเรียนรู้
3. ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้และกระบวนการ

การสอนและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องในศตวรรษที่ 21

ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการจัดการเรียนการสอน 

ที่มุ่งเน้นการพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับผู้เรียนในการใช้ชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนบทบาทครู วิธีการเรียนรู้ของผู้เรียน การจัดหลักสูตรสถานศึกษา และพัฒนาแหล่งเรียนรู้ รวมถึงบทบาทของชุมชนและท้องถิ่น โดยผู้สอนต้องเตรียมผู้เรียนเพื่อช่วยให้ผู้เรียนกลายเป็น “ผู้ที่พร้อมปฏิบัติงาน” ที่สังคมต้องการ ดังที่ Tony Wagner (2008) กล่าวถึง 7 ทักษะการเอาตัวรอดสำหรับผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 (7 Survival Skills for 21st Century Students) ดังนี้

  1. Critical thinking and problem solving (ทักษะการคิดสร้างสรรค์และการแก้ปัญหา)
  2. Collaboration and leading by influence (ทักษะการทำงานร่วมกันผ่านเครือข่าย)
  3. Agility and adaptability (ทักษะความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัว)
  4. Initiative and entrepreneurialism (ทักษะการริเริ่มและทักษะการเป็นผู้ประกอบการ)
  5. Effective oral and written communication (ทักษะการสื่อสารโดยการพูดและการเขียนที่มีประสิทธิภาพ)
  6. Accessing and analyzing information (ทักษะการเข้าถึงและการวิเคราะห์สารสนเทศ)
  7. Curiosity and imagination (ทักษะความสนใจใคร่รู้และการมีจินตนาการ)

ดังนั้น คำถามที่สำคัญในการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 คือ ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาจะออกแบบสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้อย่างไรที่จะทําให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติและคุณค่าดังกล่าว ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้เขียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างความสมดุลในการพัฒนาเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ ระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ที่ก้าวเข้าสู่ “การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง (Learner-centered Approach)” ที่มากขึ้น การจัดการเรียนการสอนที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันออกแบบการเรียนรู้ ผู้เรียนร่วมสร้างการศึกษาของตนเอง มีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ เมื่อไร และอย่างไร ในบทความนี้ผู้เขียนนำเสนอมุมมองในมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่มีรูปแบบที่แตกต่างจากอดีต เป็นการจัดการเรียนเรียนการสอนที่เข้าสู่ “Learner-centered paradigm in 21st Century” (Olena Olifer, 2020; Made Hery Santosa, 2021; Anna Sudderth, 2022; OECD, 2019; วิชัย วงษ์ใหญ์และมารุต พัฒผล, 2563; วิโรจน์ สารรัตนะ, 2559)

ตารางที่ 2 กระบวนทัศน์ในศตวรรษที่ 21

มิติด้านการจัดการศึกษา กระบวนทัศน์ในศตวรรษที่ 21
ผู้เรียน1. พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ด้วยทักษะของการเป็นชาวพื้นเมืองดิจิตอล (Digital natives) ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาสร้างทักษะและพัฒนาตนเองให้เป็นคนที่มีความรอบรู้และรู้รอบ (well-rounded person)
2. เป็นผู้เรียนรู้อย่างอิสระ (Free Agent) ที่มีความยืดหยุ่น มีทักษะความคล่องตัวและความสามารถในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้แบบแสวงหาอย่างตื่นตัว (Just-in-Time learners)3. เป็นผู้เรียนที่มีทักษะ Think Globally, Act Locally โดยนึกถึงผลประโยชน์ของส่วนรวม และผู้เรียนแต่ละคนทำหน้าที่ของตนเองภายใต้ความเป็นพลเมือง
ผู้สอน1. ปรับตัวและพัฒนาตนเองให้เข้ากับโลกดิจิทัล เคลื่อนเข้าสู่การเป็นผู้สอนที่มีทักษะดิจิทัล (A digital skilled teachers)
2. เป็นนักร่วมมือ (Collaborator) จากเครือข่ายกระจายความรู้ความคิดทักษะและการเรียนรู้ใหม่ๆ เป็นผู้เรียนรู้ร่วมหรือผู้ศึกษาค้นคว้าร่วม (Co-learner/co-investigator) กล้าศึกษาสิ่งที่ตนเองไม่ถนัด และให้ความร่วมมือกับผู้ที่มีส่วนในการพัฒนาผู้เรียน
3. ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก ด้วยเทคนิคและกลยุทธ์การสอนที่หลากหลาย
4. มีวิสัยทัศน์ เข้าใจ และเข้าถึงความต้องการของนักเรียน (Being visionary)
หลักสูตร1. เชื่อมโยงอย่างลึกซึ้งระหว่างหลักสูตรและความสนใจของผู้เรียน 
2. เชื่อมโยงชุมชนกับประเทศ กับชาติ และกับการเรียนรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก เช่น ภาวะโลกร้อน (global warming), ความไม่มั่นคงทางอาหาร (food insecurity), สุขภาพจิต (Mental Health) หรือ ปัญหาความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธปืน (gun violence) เป็นต้น
3. ออกแบบหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้โดยใช้ทักษะเป็นฐาน (Skill-based learning)
การเรียนการสอน1. กระตุ้นปลุกเร้าให้ผู้เรียนเป็นบุคคลเจ้าความคิดเจ้าปัญญา (resourceful) และอยากเรียนรู้ไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งวัน (ongoing, throughout the day)
2. เพิ่มอิสระทางการเรียนรู้ โดยปรับให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน 
3. จัดการเรียนรู้จากการปฏิบัติที่ต่อเนื่อง ที่นำไปสู่การสร้างความรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน (action-oriented learning)
4. ส่งเสริมการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนผ่านรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น เพื่อน ครู ครอบครัว ชุมชน หรือแม้แต่การแลกเปลี่ยนความรู้กับ เทคโนโลยี AI. (share in the ‘cloud’)
5. มีแผนการเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน 
6. ใช้สิ่งที่รู้จากสมองและจิตใจของผู้เรียนมาใช้ในการจัดการเรียนรู้ และพัฒนาผู้เรียน 
7. มีการเรียนการสอนข้ามสาขาวิชา (interdisciplinary) ทั้งเชื่อมโยงกันในภายในสาขาวิชา และเชื่อมโยงระหว่างสาขาอื่น ประยุกต์รวมกันเพื่อพัฒนาทักษะที่จำเป็นในการใช้ชีวิต
โรงเรียนและผู้นำ1. สร้างความเข้าใจในทักษะและผลลัพธ์ในการจัดการเรียนการสอนเพื่อศตวรรษที่ 21 กำหนดวิสัยทัศน์เพื่อการเรียนรู้ (visions for learning)
2. สร้างวัฒนธรรมภาวะผู้นําร่วม (shared leadership) และสนับสนุนให้มีความรับผิดชอบร่วม (shared responsibility) ในการจัดการศึกษาของโรงเรียน
3. สร้างสิ่งแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้เฉพาะบุคคลได้ และในขณะเดียวกันสามารถปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมสำหรับการเรียนรู้ร่วมกันในชั้นเรียน 
4. เตรียมทรัพยากรการเรียนรู้ โดยโรงเรียนเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมทรัพยากรการเรียนรู้จากครู ผู้เรียน ครอบครัว และชุมชน 
การประเมินทักษะการเรียนรู้1. ส่งเสริมผู้เรียนใช้วิธีการและเครื่องมือประเมินตนเอง (Self-assessment) มากขึ้น
2. สร้างความสมดุลในการประเมินผลเชิงคุณภาพ การประเมินผลขณะเรียนรู้ การประเมินผลการเรียนรู้ และการประเมินผลเพื่อการเรียนรู้ 
3. ใช้เทคโนโลยีเพื่อยกระดับการประเมินทักษะทางปัญญาและทักษะทางพฤติกรรม 

สรุป

กระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาสําหรับศตวรรษที่ 21 ในมิติต่างๆ ที่นำเสนอในบทความนี้ เป็นข้อมูลสารสนเทศ ที่นำเสนอแนวคิดใหม่หรือกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษาสําหรับศตวรรษที่ 21 สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการศึกษาในทุกระดับ เพื่อปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอน หลักสูตร การประเมินทักษะการเรียนรู้ เพื่อมุ่งให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต เปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือออกแบบการเรียนรู้ด้วยตนเอง หลักสูตรและเนื้อหาสาระการเรียนรู้บูรณาการความเป็นท้องถิ่น ประเทศ และโลก เชื่อมโยงความรู้และทักษะจากแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลาย ออกแบบใช้วิธีการสอนที่ส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียน เปลี่ยนโรงเรียนและชุมชนรอบข้างเป็นแหล่งบ่มเพาะและพัฒนาทักษะผู้เรียน เป็น lab ที่ให้ผู้เรียนได้ทดลอง ได้ค้นหา ได้สร้างสรรค์ ได้เรียนรู้และฝึกฝนตนเองให้เป็น “ผู้ที่พร้อมปฏิบัติงาน”

อ้างอิง

วิชัย วงษ์ใหญ่, รศ.ดร., มารุต พัฒผล, รศ.ดร.. (2563). การจัดการเรียนรู้ใน New normal เพื่อพัฒนาศักยภาพ

ผู้เรียน, 10 สิงหาคม 2563. https://oer.learn.in.th/search_detail/result/188043

วิโรจน์ สารรัตนะ. (2559). นวัตกรรมกับกระบวนทัศน์การศึกษาศตวรรษที่ 21. วารสารสถาบันวิจัยญาณสังวร

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย. 7(2). 268-283 สืบค้นจาก https://so04.tci-thaijo.org/index.php/yri/article/view/184931

Anna Sudderth, (2022). What Is Student Centered Learning and Why Is It Important?.

Retrieved October 38, 2022, from https://xqsuperschool.org/rethinktogether/what-is-student-centered-learning/

Cummings J. B. & Blatherwick M. L. (2017). Creative dimensions of teaching and learning 

in the 21st century. Sense. https://doi.org/10.1007/978-94-6351-047-9

Gowda, R. S., & Suma, V. (2017). A Comparative Analysis of Traditional Education System vs. 

E-Learning. IEEE International Conference on Innovative Mechanisms for Industry Applications, ICIMIA  2017 – Proceedings, (Icimia), 567–571. https://doi.org/10.1109/ ICIMIA.2017.7975524

Keiko Unedaya. (2022). The Future of International Higher Education Aiming for SDGs:

Collaboration with Japanese Studies Students around the World. Jsn Journal. 12(1).

1-16. doi: https://doi.org/10.14456/jsnjournal.2022.1

Made Hery Santosa. (2021). Novice Teachers’ Challenges and Problems in Bilingual Schools

Context in Bali. Proceedings of the International Conference on Sustainable Innovation Track Humanities Education and Social Sciences (ICSIHESS 2021). 29 December 2021. https://doi.org/10.2991/assehr.k.211227.004

OECD (2019). The future of education and skills Education 2030. Retrieved October 38, 2022,

from https://www.oecd.org/education/2030 project/contact/E2030%20Position%

20Paper%20(05.04.2018).pdf

Olena Olifer. (2020). The learner-centred paradigm of education: its features and

Philosophical Basis. SHS Web Conf. Volume 75, 2020 The International Conference on History, Theory and Methodology of Learning (ICHTML 2020). 26 March 2020. https://doi.org/10.1051/shsconf/20207503002

Raboca  M.,  Cotoranu  D. (2020).  The Efficiency of the Online Academic Teaching Process

During the Pandemic Covid-19.  Educatia 21 Journal, (19), 119–126. https://doi.org/10.24193/ed21.2020.19.15

Sadeghi, R.,Moslehpour S. (2007). Comparison classical method of educational and modern 

web-based distance learning system (WBDLS). International Journal of Modern Engineering, Vol. 8 (1), 128-142.

Wagner, T. (2008). The global achievement gap: Why even our best schools don’t teach 

the new survival skills our children need–and what we can do about it. Basic Books.

Leave a Comment