Soft Skills ที่จำเป็นในอนาคต :
การคิดเชิงวิพากษ์ (Critical Thinking)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เนื้อหา

1.ความหมายและความสำคัญ
2.ลักษณะและองค์ประกอบ
3.กระบวนการ
4.การพัฒนาทักษะ 
5.อ้างอิง

1.ความหมายและความสำคัญ

การคิด เป็นกลไกทางสมองตามธรรมชาติของมนุษย์  จากการที่สมองรับข้อมูลจากสิ่งแวดล้อม สังคมและประสบการณ์ดั้งเดิมของมนุษย์ ด้วยประสาทสัมผัสต่างๆ  ทำให้เกิดกระบวนการจำแนกรายละเอียด การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของข้อมูลที่ได้รับ ซึ่งข้อมูลอาจเป็นแบบรูปธรรมหรือนามธรรม เกิดการแปลความหมายของข้อมูล สรุป อ้างอิง สร้างแนวความคิดรวบยอด  ตลอดจนเป็นกระบวนการที่เกี่ยวกับการนำกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีเหตุผลและเหมาะสม  การคิดนี้ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องง่ายๆไปจนถึงเรื่องที่มีความซับซ้อน 

สภาความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการคิดเชิงวิพากษ์ (The National Council for Excellence in Critical Thinking) ให้นิยามของ การคิดเชิงวิพากษ์ ว่า เป็นกระบวนการทางปัญญาอย่างมีวินัย ในการคิด นำไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และ/หรือประเมินสารสนเทศที่รวบรวมหรือสร้างขึ้นจากการสังเกต ประสบการณ์ การสะท้อน การให้เหตุผล หรือการสื่อสารอย่างกระตือรือร้นและมีทักษะ  เพื่อเป็นแนวทางไปสู่ความเชื่อและการ กระทำ  (Foundation for Critical Thinking, 2022)

พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย ฉบับสำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2558) นิยามความหมายของ การคิดเชิงวิพากษ์ หรือ การคิดอย่างมีวิจารณญาณ คือ หลักการคิดประเภทหนึ่งที่เน้นกระบวนการพิจารณาและประเมินข้อมูลหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่คิดทุกด้านอย่างรอบคอบ โดยใช้เกณฑ์ที่กำหนด หลักเหตุผล จนได้คำตอบที่เหมาะสมหรือดีที่สุดเพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจ หรือประเมิน หรือแก้ปัญหาต่าง ๆ เป็นกระบวนการคิดที่มีปัญญาเป็นตัวนำ

กล่าวโดยย่อ การคิดเชิงวิพากษ์ คือ ความสามารถในการการวิเคราะห์ข้อมูลสารสนเทศ ข้อเท็จจริง หลักฐาน สถานการณ์ ข้อสังเกต และข้อโต้แย้งที่มีอยู่เพื่อประกอบการตัดสินใจ หรือกำหนดวิธีการตอบสนองต่อปัญหา อีกนัยหนึ่ง คือการกำกับตนเอง มีวินัยในตนเอง ตรวจสอบตนเอง และคิดแก้ไขตนเอง อีกด้วย 

การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการทำงานในศตวรรษที่ 21 ดังจะเห็นได้จาก ภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 หรือ P21 (The Partnership for 21st  Century Skills, 2022)  กำหนดให้ การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นหนึ่งใน 4C ตามกรอบการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learning Framework)  ได้แก่ 1.Creativity-ความคิดสร้างสรรค์, 2.Critical thinking-การคิดเชิงวิพากษ์, 3.Communication-การสื่อสาร และ 4.Collaboration-ความร่วมมือ ซึ่งการเรียนรู้และพัฒนาทักษะดังกล่าวจะทำให้ผู้เรียนให้มีคุณภาพและประสบความสำเร็จเพื่อการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 

ขณะที่รายงานวิเคราะห์และคาดการณ์ความเปลี่ยนแปลงในโลกของการทำงาน เรื่อง The Future of Jobs Report 2020 โดย สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum, 2020) ระบุว่า การคิดเชิงวิพากษ์และการแก้ปัญหา เป็นทักษะอันดับต้นๆ ที่นายจ้างทั่วโลกเชื่อว่าจะเติบโตอย่างโดดเด่นในปี ค.ศ.2025 โดยทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เป็นสิ่งที่ทุกภาคอุตสาหกรรมเห็นว่ามีความสำคัญติดลำดับ 1 ใน 10 ของทักษะการทำงานที่จำเป็นสำหรับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 มาตั้งแต่การคาดการณ์ในปีค.ศ.2015 (ลำดับที่ 4) ปีค.ศ.2020       (ลำดับที่ 2) ปีค.ศ.2025 (ลำดับที่ 4) 

การทำงานยุคใหม่ ต้องการกำลังคนที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ เพราะคนเหล่านี้สามารถเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศให้เป็นการกระทำได้  ช่วยทีมในการตัดสินใจโดยใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง  สามารถมองเห็นต้นตอของปัญหาที่แท้จริง สามารถหาทางแก้ไขได้อย่างตรงจุด  ตลอดจนเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ  พัฒนาความคิดในการเติบโตไปข้างหน้าได้ และเพิ่มความสามารถในการวางแผนการทำงานที่ดี การคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นทักษะสำคัญที่จะทำให้การเรียนรู้ การทำงาน การสร้างนวัตกรรม มีประสิทธิภาพมากขึ้น

2.องค์ประกอบและลักษณะ

องค์ประกอบสำคัญของการคิดเชิงวิพากษ์ มีดังนี้ (Beyer, 1995)  

  • เกณฑ์ (Criteria):  ในการคิดอย่างมีวิจารณญาณต้องใช้เกณฑ์เพื่อให้ตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง การยืนยันต้องตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ถูกต้อง อ้างอิงจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ แม่นยำ ไม่ลำเอียง ปราศจากการเข้าใจผิดเชิงตรรกะ มีเหตุผลสอดคล้องกัน แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าแต่ละสาขาวิชามีเกณฑ์ที่แตกต่างกัน แต่มาตรฐานบางอย่างก็ใช้กับทุกวิชา  
  • การโต้แย้ง (Argument): เป็นคำแถลงหรือข้อเสนอที่มีหลักฐานสนับสนุน การคิดเชิงวิพากษ์เกี่ยวข้องกับการระบุ ประเมิน และสร้างข้อโต้แย้ง
  • การใช้เหตุผล (Reasoning): เป็นความสามารถในการอนุมานหาข้อสรุปจากข้อมูลหนึ่งหรือหลายแหล่ง ในการทำเช่นนั้นจำเป็นต้องตรวจสอบความสัมพันธ์เชิงตรรกะระหว่างข้อมูล
  • มุมมอง (Point of View): คือ วิธีที่เรามองโลก นักคิดเชิงวิพากษ์จะมองปรากฏการณ์จากหลายมุมมอง
  • ลำดับขั้นตอน (Procedures): การคิดเชิงวิพากษ์เป็นกระบวนการอย่างมีลำดับขั้นตอน ขั้นตอนเหล่านี้รวมถึงการถามคำถาม การตัดสิน และการระบุสมมติฐาน

ลักษณะบางประการ ที่นักคิดเชิงวิพากษ์ต้องมี คือ (The Open University, 2022)

ความสามารถ (Abilities)

  • วิเคราะห์ข้อโต้แย้ง ข้อเรียกร้อง หรือหลักฐาน
  • ตัดสินหรือประเมินตามหลักฐาน
  • การอนุมานโดยใช้เหตุผลแบบอุปนัยหรือนิรนัย
  • ตัดสินใจและ/หรือแก้ปัญหาด้วยการใช้เหตุผล

นิสัย (Dispositions)

  • ช่างสงสัย
  • เปิดใจกว้าง
  • ค้นหาความจริง
  • เคารพหลักฐานและเหตุผล
  • เคารพความชัดเจนและแม่นยำ
  • เห็นคุณค่าของความยุติธรรม
  • มองในมุมมองที่แตกต่าง และจะเปลี่ยนจุดยืนเมื่อมีเหตุผลเพียงพอ 

3.กระบวนการ 

กระบวนการคิดเชิงวิพากษ์มักใช้กับปัญหาที่ไม่ชัดเจน มีความซับซ้อน และไม่มีวิธีแก้ปัญหาหรือผลลัพธ์ที่แน่นอน กระบวนการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบซึ่งต้องใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ มีดังนี้ (University of Florida, 2022)

  1. การตีความ (Interpretation) เมื่อมีปัญหาที่ต้องการแก้ไข หัวหน้าทีมหรือผู้นำเสนอจะอธิบาย ชี้แจงถึง ข้อเท็จจริง ปัญหา ความท้าทาย  หรือสถานการณ์ต่อทีมตลอดจนวิธีแก้ไขปัญหาใด ๆ ที่ได้ลองก่อนหน้าและทำให้แน่ใจว่าสมาชิกในทีมทุกคนมีความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับปัญหา
  2. การวิเคราะห์ (Analysis) เพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาอย่างละเอียด สำรวจความสัมพันธ์เชิงอนุมาน  พิจารณามุมมอง ความเชื่อ สมมติฐาน และความคิดเห็นของแต่ละคน
  3. การอนุมาน  (Inference) เพื่อระบุองค์ประกอบที่สมเหตุสมผลจำเป็นในการสรุปผล ทีมงานจะใช้ข้อมูล ข้อความ หลักการ หลักฐาน ความเชื่อ และความคิดเห็นจากช่วงการวิเคราะห์และระดมความคิดเห็น นี่เป็นเวลาที่จะระบุวิธีแก้ปัญหาที่เป็นไปได้และหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของแต่ละแนวทางแก้ไข
  4. การประเมิน (Evaluatuion) เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแนวทางแก้ไขปัญหา จากขั้นตอนการอนุมาน และทบทวนหลักฐานและแนวคิดใหม่ๆ ที่สร้างขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า ประเมินวิธีแก้ปัญหาด้วยมุมมองใหม่ และตรวจสอบจุดอ่อนในเชิงตรรกะ
  5. การอธิบาย (Explanation) เพื่ออธิบายกระบวนการที่ทีมดำเนินการ ให้ได้มาซึ่งแนวทางแก้ไข การชี้แจงบริบทว่ากระบวนการคิดมีความเป็นมาอย่างไร
  6. การกำกับตนเอง (Self-Regulation) เพื่อตรวจสอบความคิดและประเมินอคติที่อาจเกิดขึ้น ประเมินการตัดสินเชิงอนุมานของทีมด้วยมุมมองในการตั้งคำถาม ยืนยัน ตรวจสอบ หรือเชื่อมโยงเหตุผลหรือผลลัพธ์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง  

4.การพัฒนาทักษะ 

Walker Center for Teaching and Learning (2022) ได้ให้แนวทางการจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ดังนี้

  • การเรียนรู้ในรูปแบบการประชุม (Conference Style Learning) โดยครูไม่ได้ “สอน” ในชั้นเรียนแบบการบรรยาย แต่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการประชุม ผู้เรียนต้องอ่านเนื้อหาที่จำเป็นทั้งหมดอย่างละเอียดก่อนเรียน  ผู้เรียนจะต้องถามคำถามซึ่งกันและกันและอภิปรายเกี่ยวกับคำถามเหล่านี้ ครูจะเป็นผู้ช่วยเสนอแนะ กำกับการอภิปราย ด้วยการตั้งคำถามเชิงกลยุทธ์ และช่วยเหลือผู้เรียนต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน
  • เทคนิค CATS (Classroom Assessment Techniques) เป็นการประเมินในชั้นเรียนอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามและส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ของผู้เรียน  เช่น การมอบหมายให้เขียนบันทึกการเรียนรู้ เกี่ยวกับ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ได้เรียนรู้ในวันนี้, คำถามใดที่ยังคงอยู่ในใจมากที่สุด ฯลฯ โดยผู้สอนจะเลือกคำถามบางส่วนและเตรียมคำตอบสำหรับการประชุมชั้นเรียนครั้งต่อไป
  • กลยุทธ์การเรียนรู้แบบร่วมมือ (Cooperative Learning Strategies) โดยการให้ผู้เรียนอยู่ในสถานการณ์การเรียนรู้แบบกลุ่ม ซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมในการส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์ ด้วยการสนับสนุนและคำติชมอย่างต่อเนื่องจากผู้สอนและผู้เรียนคนอื่นๆ ทำให้ผู้เรียนปฏิบัติงานอย่างกระตือรือร้น และเกิดคิดเชิงวิพากษ์มากขึ้น 
  • กรณีศึกษา/การอภิปราย (Case Study /Discussion Method) ผู้สอนนำเสนอกรณีศึกษา ต่อชั้นเรียนโดยไม่มีข้อสรุป ตั้งคำถามแล้วให้ผู้เรียนร่วมกันอภิปราย สร้างข้อสรุปสำหรับกรณีนี้
  • การตั้งคำถาม  ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามระหว่างผู้เรียนในแต่ละกลุ่มย่อย การตั้งคำถามโดยผู้สอนหลังการบรรยาย  เช่น “อะไรคือจุดแข็งและจุดอ่อนของ…  จากนั้นร่วมกันอภิปรายคำถาม หรือ กำหนดให้ผู้เรียนเขียนคำถามเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมาย และนำคำถามมาตอบหรืออภิปรายในชั้นเรียน
  • การมอบหมายงานเขียน (Written assignments)  การเขียนเป็นพื้นฐานในการพัฒนาทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ ผู้กำหนดให้ผู้เรียนเขียนโต้เถียงประเด็นต่างๆอย่างรอบด้าน
  • การสนทนา (Dialogues)  มักทำเป็นกลุ่มย่อย มีบทบาทที่แตกต่างกัน เช่น ผู้นำ ผู้ให้ข้อมูล ผู้แสวงหาความคิดเห็น และผู้ไม่เห็นด้วย  โดยผู้เรียน หรือผู้สังเกตการณ์ ต้องระบุมุมมองที่แตกต่างกันของผู้เข้าร่วมแต่ละคน   ประเมินทักษะการใช้เหตุผล  ตรวจสอบนัยทางจริยธรรมของเนื้อหา  มองหาอคติ การมีอยู่หรือการยกเว้นหลักฐานสำคัญ การตีความทางเลือก การแสดงข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง และข้อผิดพลาดในการให้เหตุผล แต่ละกลุ่มต้องตัดสินใจว่ามุมมองใดสมเหตุสมผลที่สุด 
  • ใช้ความกำกวม (Ambiguity)  ด้วยการให้ข้อมูลที่ขัดแย้งกัน หรือหลากหลายทางเลือก ทำให้ผู้เรียนต้องคิด ประเมินผล และหาทางแก้ไข

การคิดเชิงวิพากษ์ เป็นทักษะอย่างหนึ่ง  ที่สามารถสอนได้ สามารถเรียนรู้ได้และสามารถปรับปรุงได้ด้วยการฝึกฝน แต่เช่นเดียวกับทักษะอื่น ๆ เช่นการปั่นจักรยาน การว่ายน้ำ ที่ไม่ได้เรียนรู้โดยการนั่งฟังบรรยายในห้องเรียน หากเกิดจากการลงมือกระทำอย่างสม่ำเสมอ ผ่านการจัดการเรียนรู้รูปแบบต่างๆซึ่งผู้สอนได้ออกแบบมาเป็นอย่างดีแล้่ว

5.อ้างอิง

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2558). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย. กองธรรมศาสตร์และการเมือง.

Beyer, B. K. (1995). Critical thinking. Phi Delta Kappa Educational Foundation.

Clarke, J. (2019). Critical Dialogues: Thinking Together in Turbulent Times. Policy Press. 

Foundation for Critical Thinking. (2022, December 13).  Defining Critical Thinking.

https://www.criticalthinking.org/pages/defining-critical-thinking/766

The Partnership for 21st  Century Skills. (2022, December 13). Framework for 21st Century 

Learning. https://static.battelleforkids.org/documents/p21/P21_Framework_Brief.pdf

World Economic Forum.  (2022, December 6). The Future of Jobs Report 2020

https://www.weforum.org/reports/the-future-of-jobs-report-2020/

University of Florida. (2022). A Systematic Process for Critical Thinking. 

https://training.hr.ufl.edu/resources/LeadershipToolkit/job_aids/SystematicProcessforCriticalThinking.pdf

Walker Center for Teaching and Learning. (2022, December 13). Critical Thinking and 

Problem-Solving.https://www.utc.edu/academic-affairs/walker-center-for-teaching-and-learning/teaching-resources/pedagogical-strategies-and-techniques/ct-ps 

The Open University.  (2022, December 13).  Fundamental aspects of critical thinking.

https://www.open.edu/openlearn/mod/oucontent/view.php?id=51387&section=3

Leave a Comment