Soft skill/Hard skill

รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เนื้อหา

1.ความหมาย และลักษณะของทักษะ
2.ประเภทของทักษะ 
3.ความแตกต่างของ Soft skill และ Hard skill 
4.การยกระดับทักษะ (Upskilling)
5.อ้างอิง

1.ความหมาย และลักษณะของทักษะ

เรามักได้ยินคำว่า “ทักษะ” (Skill) ในบริบทของ การกีฬา การแสดง งานช่าง งานฝีมือ อยู่บ่อยครั้ง เพราะทักษะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สิ่งนั้นสำเร็จ

ทักษะ เป็นมโนทัศน์ สำหรับอธิบาย  ความเชี่ยวชาญ, ความชำนาญ, ความสามารถ, ฝีมือ, ความช่ำชอง, ความแคล่วคล่อง, ความสันทัด ของบุคคลหรือองค์กร  เมื่อทักษะประกอบกับ ความรู้ (Kownledge) และคุณลักษณะเฉพาะ (Attribute) ก็จะกลายเป็น สมรรถนะ (Competency) ทั้งนี้ทักษะอาจเป็นพรสวรรค์ของแต่ละบุคคล ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ฝึกฝน เรียนรู้และถ่ายทอดได้เช่นกัน 

พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย สำนักงานราชบัณฑิตยสภา (2558) ให้นิยามของคำว่า “ทักษะ” หมายถึง ความชำนาญหรือความสามารถในการกระทำหรือการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นทักษะด้านร่างกาย สติปัญญา หรือสังคม ที่เกิดขึ้นจากการฝึกฝน หรือการกระทำบ่อย ๆ  

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD, 2022) ให้นิยามของ “ทักษะ” ว่า เป็นความสามารถ  (Ability)  และ สมรรถภาพ (Capacity) ในการดำเนินกะบวนการ และสามารถใช้ความรู้ของตนอย่างมีความรับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย  

ทักษะมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

  • เป็นการกระทำเฉพาะ (Specific action) หรือระดับการปฏิบัติการของแต่ละบุคคล
  • มุ่งเน้นเป้าหมาย (Goal oriented) เราใช้ทักษะเพื่อบรรลุผลลัพธ์ที่คาดหวังไว้บาง อย่าง เช่น ต้องการตีลูกกอล์ฟให้ลงหลุม
  • เรียนรู้ได้ผ่านการฝึกฝน (Learned through practice) การพัฒนาทักษะ ต้องอาศัยประสบการณ์ การทำซ้ำ หรือคำแนะนำ ติชมจากผู้ฝึกสอน หรือโค้ช

2.ประเภทของทักษะ 

ในทางการกีฬา แบ่งทักษะออกเป็น 4 ประเภท คือ 

  1. ทักษะทางความเข้าใจ (Cognitive) ที่ต้องใช้ความครุ่นคิดไตร่ตรอง เช่น การเล่นหมากรุก
  2. ทักษะทางการรับรู้ (Perceptual) ที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสและการทรงตัว เช่น การอ่านกรีนในสนามกอล์ฟ
  3. ทักษะทางการสั่งการ (Motor) ที่เน้นการเคลื่อนไหว เช่น การวิ่ง
  4. ทักษะผสม (Perceptual & Motor) ประกอบทั้งการรับรู้และการสั่งการ โดยตีความสิ่งเร้าจากสภาพแวดล้อม เช่น การเลี้ยงบอลในสนาม

OECD Learning Compass 2030 แบ่งทักษะออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

  1. ทักษะทางสติปัญญาและการรู้คิด (Cognitive and Metacognitive skills) ประกอบด้วย การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้เพื่อเรียนรู้ และการควบคุมตนเอง
  2. ทักษะทางสังคมและอารมณ์ (Social and Emotional skills) ประกอบด้วย ความเห็นอกเห็นใจ การรับรู้ความสามารถของตนเอง ความรับผิดชอบ และการทำงานร่วมกัน
  3. ทักษะทางร่างกายและการปฏิบัติ (Physical and Practical skills) ใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ ในการทำงาน และฟังก์ชั่นต่างๆ  รวมถึง ความสามารถในการใช้อุปกรณ์สื่อสารและสารสนเทศ  เล่นเครื่องดนตรี งานศิลปะหัตถกรรม เล่นกีฬา  การแต่งกาย การเตรียมอาหารและเครื่องดื่ม การรักษาความสะอาด  ความแข็งแรง ความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ  

ส่วนในทางการทำงานนั้น สำนักงานราชบัณฑิตยสภา  (2558) แบ่งทักษะเป็น 2 ประเภท ใหญ่ๆ คือ 

  1. สมรรถนทักษะ (Hard skill) หมายถึง  ทักษะความสามารถในการทำงานที่ได้จากการเรียนรู้หรือการฝึกฝน วิชาการ วิชาชีพ ที่เป็นหลักสูตร หรือหลักสูตรระยะสั้น เพื่อใช้ในการเรียนต่อหรือใช้ในการประกอบอาชีพ เช่น การอ่าน การเขียน การพูด การฟัง การพิมพ์ดีด การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ การทำบัญชี การเรียนวิชาช่างอุตสาหกรรมต่าง ๆ การใช้เครื่องมือ เครื่องจักรกล การขับรถยนต์ การประกอบอาหาร การสอนวิชาการต่าง ๆ การบริหารจัดการ การเพาะพันธุ์ไม้ การทำเกษตรกรรม การประมง การวิเคราะห์วิจัย การออกแบบ การคำนวณการก่อสร้าง การเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ การวาดภาพ การแสดง การขับร้องเพลง การเล่นดนตรี  
  2. จรณทักษะ (Soft skill)  หมายถึง ทักษะที่เป็นลักษณะเฉพาะหรือคุณสมบัติเฉพาะของบุคคลในเรื่องความฉลาด ความสามารถทางอารมณ์ หรือความมีคุณธรรม มีลักษณะเป็นนามธรรม เช่น บุคลิกภาพ อุปนิสัย ความสุภาพ ความนุ่มนวลในการเข้าสังคม การใช้ภาษาติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ความเป็นมิตร การมองโลกในแง่ดี มีวุฒิภาวะ มีความคิดริเริ่ม สามารถควบคุมอารมณ์ ความรู้สึก ความเข้าใจความเป็นจริงของสภาพการณ์ต่าง ๆ

3.ความแตกต่างของสมรรถนทักษะ (Hard skill) และ จรณทักษะ (Soft skill)

ด้าน/ประเภท สมรรถนทักษะจรณทักษะ
ความเกี่ยวข้องหลักพื้นฐานการทำงาน สมรรถนะประจำตำแหน่งงาน และความสามารถของบุคคลซึ่งจำเป็นต่อการทำงานให้สำเร็จ อารมณ์  เสริมให้บุคคล สามารถดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น และสามารถทำงาน ประกอบอาชีพให้ก้าวหน้าได้ 
ความเป็นรูปธรรมเป็นรูปธรรม มองเห็นได้ สัมผัสได้เป็นเชิงนามธรรม สังเกตได้ยากกว่า
การสร้างเสริมเกิดจากการเรียนรู้ทางวิชาการ การฝึกฝนงาน หรือการทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่งตามปรกติเกิดการอบรมเลี้ยงดู การขัดเกลาทางวัฒนธรรม และการเรียนรู้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการบ่มเพาะ
การวัดผลวัดได้ง่ายกว่า ใช้เกณฑ์และวิธีการประเมินโดยทั่วไป เช่น การสอบ การทอดลองวัดและประเมินผลยากกว่า มักต้องใช้วิธีการสังเกต บันทึก และวิเคราะห์พฤติกรรมต่อเนื่อง จึงพอจะสรุปได้
ตัวอย่างการผลิตวิดีโอการจัดทำงบประมาณการจัดการโครงการวิศวกรรมการทำเหมืองข้อมูลการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR)การทำงานเป็นทีมการคิดอย่างมีวิจารณญาณความสามารถในการปรับตัวความเป็นมืออาชีพความคิดสร้างสรรค์ความยืดหยุ่น

จากตารางข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สมรรถนะทักษะ คือทักษะในเชิงเทคนิค (Technical skills)  เพราะ เกี่ยวข้องกับทั้งความเข้าใจและความชำนาญในกิจกรรมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับวิธีการ กระบวนการ ขั้นตอนหรือเทคนิค ส่วน จรณทักษะ เป็นทักษะชีวิต (Life skills) เพราะเกี่ยวข้องกับความคิด อารมณ์ สังคม และความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับการทำงาน 

แม้ว่ามรรถนะทักษะของแต่ละวิชาชีพนั้นแตกต่างกันมาก เช่น แพทย์ กับ วิศวกร แต่ทั้งสองอาชีพ สามารถใช้ จรณทักษะเดียวกัน เช่น การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ มาใช้กับวิชาชีพได้

4.การยกระดับทักษะ (Upskilling)

การศึกษาในยุคที่ผ่านมา มุ่งเน้นที่การพัฒนาทักษะทางสติปัญญา มากกว่า ทักษะทางสังคม อารมณ์  แต่ปรากฏการณ์และการศึกษาวิจัยในหลายปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า จรณทักษะมีความสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จขององค์กร  โดยเฉพาะในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวเร่งความเปลี่ยนแปลง ทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป ธุรกิจต้องการกำลังคนที่มีทักษะหลากหลายและเข้าได้กับการทำงานยุคใหม่ ทักษะบางอย่าง เครื่องจักรทำได้ดีและแม่นยำกว่ามนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันทักษะที่มนุษย์มี เช่นความเห็นอกเห็นใจ ความคิดสร้างสรรค์ นั้นเครื่องจักรยังไม่มีหรือไม่เทียบเท่า

OECD Learning Compass 2030  ระบุว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์ เช่น ความเห็นอกเห็นใจ การตระหนักรู้ในตนเอง การเคารพผู้อื่น และความสามารถในการสื่อสาร กำลังกลายเป็นสิ่งสำคัญ พอๆกับทักษะทางสติปัญญา หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ เมื่อห้องเรียนและสถานที่ทำงานมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ วัฒนธรรม และภาษามากขึ้น

การพัฒนาทักษะนั้น อาจได้จากการเรียนรู้ในระบบ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมภาคปฏิบัติ หรือเรียนหลักสูตรต่างๆ รวมทั้งมาจากการฝึกฝน ทำงานในสถานประกอบการ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ ขัดเกลาทางสังคม

National Careers Service (2022) ได้ให้แนวทางในการยกระดับทักษะของตนเอง ดังนี้

  1. ระบุทักษะ (Identifying skills) ทั้งทักษะเทคนิค และทักษะชีวิต ที่จำเป็นสำหรับการทำงานที่สนใจ โดย 
  • ตรวจสอบรายละเอียดงาน, ดูโปรไฟล์บริษัท, พูดคุยสอบถามเกี่ยวกับงานที่สนใจ
  • ไตร่ตรองเกี่ยวกับสิ่งที่ทำในงานปัจจุบัน
  • ทบทวนการศึกษาและประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา
  • คิดเกี่ยวกับทักษะที่ได้รับในชีวิตประจำวัน
  • พูดคุยกับคนที่รู้จักเราดีนอกที่ทำงาน เพื่อมุมมองที่แตกต่างออกไป 
  • เขียนรายการจุดแข็งและด้านที่ต้องการปรับปรุง
  1. ปรับปรุงทักษะ (Improve your skills) การพัฒนาทักษะที่เหมาะสมสามารถทำให้ได้งานที่ดีขึ้น ทักษะใหม่ ๆ อาจนำไปสู่ทิศทางอาชีพที่แตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง โดย ทักษะที่ควรพัฒนา เช่น
  • ทักษะดิจิทัล
  • ทักษะด้านผู้คน เช่น ผ่านการเป็นอาสาสมัคร
  • ทักษะการสื่อสารหรือตัวเลข
  • ทักษะการสัมภาษณ์
  1. ฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะ ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานของรัฐและเอกชนจำนวนมากที่เปิดฝึกอบรม ให้ความรู้ พัฒนาทักษะใหม่ๆ  ทั้งแบบไม่มีค่าใช้จ่ายและแบบที่ต้องจ่ายค่าลงทะเบียน
  2. ทำงานเป็นอาสาสมัคร  (Volunteering) เพื่อหาประสบการณ์ ทำให้เกิดทักษะใหม่ที่อาจไม่ได้รับในชั้นเรียน ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนสังคมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อตนเองด้วย
  3. เรียนรู้ด้วยตนเอง จากสื่อและแหล่งการเรียนรู้ใหม่ๆ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากในยุคดิจิทัล เช่น ฟังพอดแคสต์ ดูวิดิโอคลิป อ่านหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ดูรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ใช้แอปพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ต่างๆ
  4. วางแผนอาชีพ ตั้งเป้าหมาย ‘SMART’ ให้ตัวเองเมื่อตัดสินใจก้าวต่อไป
  • Specific-เฉพาะเจาะจง
  • Measurable-วัดได้
  • Achievable-ทำได้
  • Relevant-เกี่ยวข้อง
  • Time-bound-ในเวลาจำกัด

พัฒนาแผนขโดยมีเป้าหมายระยะยาวและเป้าหมายระยะสั้น เพื่อให้แบ่งเวลาได้ ควรคิดถึงเส้นทางต่างๆ ทั้งหมดที่สามารถใช้เพื่อไปสู่เป้าหมายในอาชีพ

  1. ปรับปรุงประวัติการทำงาน (Curriculum Vitae: CV) โดยเพิ่มทักษะใหม่ๆลงไป

กล่าวโดยสรุป สมรรถนทักษะ (Hard skill) ทำให้บุคคลปฏิบัติงานได้ดี  ส่วนจรณทักษะ (Soft skill)  ทำให้บุคคลปฏิบัติงานได้เก่ง และทักษะทั้งสองอย่างนี้จำเป็นสำหรับการประสบความสำเร็จในอาชีพการงานในทุกด้าน 

5.อ้างอิง

สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. (2558). พจนานุกรมศัพท์ศึกษาศาสตร์ร่วมสมัย. กองธรรมศาสตร์และการเมือง.

Bitler, D. (2022, November 18). Top 15 soft skills for 2025 and how to acquire and hone those 

skills. https://www.linkedin.com/pulse/top-15-soft-skills-2025-how-acquire-hone-those-denise

Walden University. (2022, November 18). What Is the Difference Between Hard Skills and Soft 

Skills?. https://www.waldenu.edu/school-of-lifelong-learning/resource/what-is-the-difference-between-hard-skills-and-soft-skills

National Careers Service. (2022, November 18). Identifying skills and upskilling. 

OECD Learning Compass 2030. (2022, November 18). Skills for 2030. 

Leave a Comment