ระบบสะสมหน่วยกิต (Credit Bank System)

ผู้เรียบเรียง: รองศาสตราจารย์ ดร.วิศปัตย์ ชัยช่วย ผู้ช่วยคณดีฝ่ายบัณฑิตศึกษาอนาคต บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น


เนื้อหา
1.แนวคิดเกี่ยวกับระบบสะสมหน่วยกิต
2.ลักษณะของระบบสะสมหน่วยกิต
3.รูปแบบของระบบสะสมหน่วยกิต
4.ข้อดีและข้อจำกัดของระบบสะสมหน่วยกิต
5.อ้างอิง

1.แนวคิดเกี่ยวกับระบบสะสมหน่วยกิต

หน่วยกิต (Credit) เป็นหน่วยวัดปริมาณ คุณค่า และระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน ซึ่งมีที่มาจากหลากหลาย คือ  (สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ, 2565)

  • Credit from Standardize (CS) ได้จากการเรียนรู้ โดยสถาบันการศึกษา หรือองค์กรมาตรฐานวิชาชีพหรือวิชาการเป็นผู้มอบให้ ซึ่งถือเป็นคุณวุฒิระดับใดระดับหนึ่งตามมาตรฐาน 
  • Credit from Non-degree (CN) ได้จากการเรียนรู้จากหน่วยงาน สถาบันการศึกษาที่ไม่มีการให้ปริญญา แต่มีการวัดหรือทดสอบใดๆ เพื่อยืนยันว่า ผู้เรียนมีความรู้ หรือสมรรถนะตามที่กำหนดไว้ 
  • Credit from Training (CT) ได้จากการฝึกอบรมหรือฝึกปฏิบัติ ที่มีการทดสอบ วัดความรู้ สมรรถนะของผู้เรียน
  • Credit from Port Folio (CP) ได้จากประสบการณ์ ผลงาน หลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงถึงความรู้ สมรรถนะ ของผู้เรียน  
  • Credit from Examination (CE) ได้จากการสอบวัดความรู้ หรือสมรรถนะ โดยข้อสอบมาตรฐานของสถาบัน

ปัจจุบัน  ด้วยฐานแนวคิดการศึกษาตลอดชีวิตและมุมมองทางการธนาคาร เห็นว่า หน่วยกิต เป็นสิ่งที่สามารถสะสม เพิ่มพูน เทียบโอนได้ ในลักษณะเดียวกับสินทรัพย์ ที่นำไปฝากไว้ในระบบธนาคาร  โดยหน่วยกิตเปรียบเสมือนสกุลเงินหนึ่ง คือ สกุลเงินความรู้ (Knowledge Currency) ที่เมื่อสะสมจนจบหลักสูตร ก็จะสามารถเทียบ โอน หรือแปลงเป็นหนังสือรับรองคุณวุฒิได้  (Junor & Usher, 2008)

“Credit  Bank; Academic Credit Banking; Credit Bank System; Credit System CBS” มีการใช้คำศัพท์ในภาษาไทย อย่างหลากหลาย คือ “การสะสมหน่วนกิต, การสะสมหน่วยการเรียนรู้, ธนาคารหน่วยการเรียนรู้, ธนาคารหน่วยกิต” ซึ่งในบทความนี้จะเรียกโดยย่อว่า CBS ในบางกรณี เป็นระบบการศึกษา (Educational System) และระบบการจัดการเรียนรู้ (Learning Management System) ที่ได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา 

แนวคิดนี้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสหรัฐอเมริกา ราวศตวรรษที่ 1990   เพื่อผ่อนคลายเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับเข้าและลงทะเบียนเรียน ตลอดจนส่งเสริมการโอนหน่วยกิตระหว่างวิทยาลัยชุมชนที่เรียนสองปีและวิทยาลัยชุมชนที่เรียนสี่ปี  ช่วงเดียวกันนั้นเองในกลุ่มประเทศยุโรป ก็เริ่มนำแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อส่งเสริมการ บูรณาการอุดมศึกษา โดยมีการโอนหน่วยกิตระหว่างมหาวิทยาลัย 31 แห่ง หลังจากนั้นแนวคิดระบบสะสมหน่วยกิต ก็แพร่หลายไปยังประเทศแคนนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ และอื่นๆ เพื่อตอบสนองการปฏิรูปการศึกษา  
ระบบสะสมหน่วยกิต เปรียบเสมือน “สะพานข้ามทางแยก” สำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการเชื่อมต่อการศึกษาทุกรูปแบบ และทุกระดับ บูรณาการช่องทางการเรียนรู้ (Channels) วิธีการเรียนรู้ (Methods) และกระบวนการเรียนรู้ (Process) ที่หลากหลายไว้ด้วยกัน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์การเรียนรู้ที่คาดหวัง โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือสร้าง “สะพานข้ามทางแยก” นี้ ให้ตอบสนองการเรียนรู้ทุกช่วงชีวิต และระดับการศึกษาที่หลากหลาย เชื่อมโยงการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษากับสถานประกอบการเข้าด้วยกันให้เป็นองค์รวม ตามกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ โดยระบบสามารถออกใบรับรองหน่วยกิต วุฒิบัตร ประกาศนียบัตร หรือปริญญาบัตร เพื่อบ่งชี้ความรู้ประสบการณ์ ทักษะ ของผู้เรียนทั้งที่อยู่ในระบบการศึกษาในระบบและตามอัธยาศัย   (Zhou, 2019)

กล่าวโดยสรุป CBS คือ ระบบการจัดการเรียนรู้ของสถาบันการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สามารถนำผลการเรียนรู้ที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย มาเก็บสะสม เทียบ โอน เพื่อขอรับการรับรองการศึกษาในระดับใดระดับหนึ่ง  โดยไม่จำกัดระยะเวลาการเรียนและการสะสมหน่วยกิต 

2.ลักษณะของระบบสะสมหน่วยกิต

CBS แบ่งหน่วยกิตออกเป็นหน่วย (Unit) ที่อ้างอิงตามมาตรฐาน เช่น ตามชั่วโมงการเรียนรู้ ตามประสบการณ์ ตามผลงาน โดยมีแพลตฟอร์มประมวลผลข้อมูล ให้ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียนรู้ของตน มาขึ้นทะเบียนเปิดบัญชีสะสมหน่วยกิต (Credit Account) ระบบทำหน้าที่รับรองผลการเรียนรู้ และยืนยันตัวตนของผู้เรียน รับรองการได้รับหน่วยกิต หรือแปลงประสบการณ์ ผลงาน ออกมาเป็นหน่วยกิต อย่างครบวงจร ทำนองเดียวกับสมุดบัญชีธนาคาร (Saving Account)   โดยมีลักษณะสำคัญ คือ (Junor & Usher, 2008; Zhou, 2019)
1.จุดเน้น: CBS มุ่งให้บริการผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตทุกราย สนับสนุนการเรียนรู้เฉพาะบุคคล (Individual Learning) การเรียนรู้แบบไม่ต่อเนื่อง (Discontinuous Learning) การเรียนรู้แบบยืดหยุ่น (Flexible  Learning) และอื่นๆ  โดยไม่จำกัดระยะเวลาตายตัวในการสะสม หรือไม่กำหนดระยะเวลาการเรียน  เอื้อให้ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องเรียนต่อเนื่องในระบบ 
2.ฟังก์ชันพื้นฐาน: CBS ต้องสามารถดำเนินการพื้นฐานเกี่ยวกับหน่วยกิตในฐานะที่เป็นสกุลเงินความรู้ คือ การสะสม (Accumulation) การแปลง (Conversion) และการรับรอง (Certification) ผลลัพธ์/ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้ ทั้งที่ได้รับจากการเรียนรู้ในสถาบันการศึกษาอย่างเป็นทางการ และการเรียนรู้จากประสบการณ์ การทำงาน การฝึกอบรม หรือแบบไม่เป็นทางการอีกด้วย  โดยผู้เรียนสามารถฝาก ถอน หรือโอนได้ทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับระบบการแลกเปลี่ยนเงินตรา การโอนหน่วยกิต แบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ (Junor & Usher, 2008)

  1. อัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว (Floating Exchange Rate) แต่ละสถาบันกำหนดมูลค่าหน่วยกิตภายใน ประเมินมูลค่าหน่วยกิตภายนอกเป็นรายกรณี โดยผู้เรียนจะต้องเจรจากับสถาบันที่ต้องการให้โอนหน่วยกิตเอง
  2. อัตราแลกเปลี่ยนคงที่ (Fixed Exchange Rate) โดยสถาบันต่างๆตกลงร่วมกัน กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนมูลค่าหน่วยกิตระหว่างสถาบัน  สร้างกลไกการตรวจสอบซึ่งกันและกัน กรณีนี้ 1 หน่วยกิตจากสถาบันหนึ่ง อาจมากกว่า น้อยกว่า หรือเทียบเท่ากับอีกสถาบันหนึ่งก็ได้
  3. อัตราแลกเปลี่ยนแบบสกุลเงินเดียว (Pure Currency Union) ทำนองเดียวกับสหภาพยุโรป (EU) ใช้สกุลเงินยูโรร่วมกัน โดยทุกสถาบันจะใช้หลักการเดียวกัน ยอมรับการโอนย้ายระหว่างกัน

3.มาตรฐานและกรอบงาน: CBS ใช้กรอบมาตรฐานคุณวุฒิหรือมาตรฐานการศึกษาของแต่ละประเทศเป็นแนวปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการจำแนกหมวดหมู่ผลลัพธ์การเรียนรู้ วิธีการเก็บสะสม วิธีการแปลง วิธีการโอน ให้หลักสูตร หรือการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ สามารถเชื่อมโยง ผสาน ได้อย่างเท่าเทียมกัน อันจะช่วยส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา เกิดกลไกการแบ่งปันทรัพยากร ส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

3.รูปแบบของระบบสะสมหน่วยกิต

อาจแบ่ง CBS ออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ

1.ระบบสะสมหน่วยกิตของสถาบัน  (Academic Credit Bank) เปรียบเสมือนธนาคารพาณิชย์ ทำหน้าที่สะสม (Accumulation) แปลง (Conversion) และรับรอง (Certification) ผลลัพธ์/ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาภายในสถาบัน หรือระหว่างสถาบัน หากมีสาขาเดียวหรือเป็นของสถาบันใดสถาบันหนึ่งอาจทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว  หากมีหลายสาขาและใช้ระบบเดียวกัน อาจทำให้เกิดอัตราแลกเปลี่ยนแบบสกุลเงินเดียว เช่นในกรณีของ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ได้มีการกำหนดนโยบายร่วมกัน และใช้รูปแบบการเทียบโอนระหว่างสถาบันทั้ง 9 แห่ง เหมือนกัน
2.ระบบสะสมหน่วยกิตแห่งชาติ  (National Credit Bank) เปรียบเสมือนธนาคาร ที่กำกับ ดูแล ออกกฎหมาย ข้อกำหนด มาตรฐาน เกี่ยวกับการสะสมหน่วยกิต และการสำเร็จการศึกษา  เชื่อมโยงกับธนาคารหน่วยกิตของสถาบันการศึกษา หรือที่มิใช่สถาบันการศึกษา เช่นภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ทำให้เกิดการโอนหน่วยกิตในอัตราที่คงที่ หรือเป็นสกุลเงินเดียวกัน

4.ข้อดีและข้อจำกัดของระบบสะสมหน่วยกิต

ข้อดี

  • ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพิ่มโอกาสในการศึกษาตลอดชีวิตให้แก่บุคคล ผู้เรียนสามารถเข้าถึงการศึกษาตลอดชีวิต
  • ทำให้การเชื่อมโยงการศึกษาในระบบ นอกระบบ ตามอัธยาศัย เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการศึกษาตลอดชีวิต  
  • สนับสนุนรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย ผ่อนคลายข้อจำกัดในเรื่องอายุของผู้เรียน คุณวุฒิ ระยะเวลาในการสะสมหน่วยกิต และระยะเวลาในการเรียน
  • อำนวยความสะดวกในการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับตนเอง  
  • ช่วยให้ประหยัดเวลา ทรัพยากร เกิดการใช้งานร่วมกันระหว่างสถาบัน หน่วยงาน ภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม

ข้อจำกัด

  • มาตรฐานการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินความรู้ ที่ยังไม่ชัดเจน เช่น การฝึกอบรม ประสบการณ์ ผลงาน ควรคิดเป็นกี่หน่วยกิต และเทียบเท่ากับวิชา หรือหลักสูตรใดได้บ้าง ตลอดจนการนิยามผลลัพธ์การเรียนรู้ที่แตกต่างกัน อาจมีผลทำให้ CBS แต่ละสถาบันไม่สามารถเชื่อมโยงกันได้ราบรื่น โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ยังไม่มี “ธนาคารหน่วยกิตแห่งประเทศไทย” ออกมากำกับ
  • ความเชื่อมั่นในระบบ เนื่องจาก CBS เป็นนวัตกรรมที่ยังไม่แพร่หลาย และในบางแห่งยังเป็นการทดลองหรือเริ่มต้นใช้ ทำให้ทั้งผู้เรียน และภาคผู้จ้างงาน อาจกังขาถึงความน่าเชื่อถือของระบบ รวมถึงคุณวุฒิที่ได้จาก CBS จะมีศักดิ์และสิทธิ์ เทียบเท่าคุณวุฒิจากการศึกษาในระบบหรือไม่
  • ระยะเวลาในการเก็บหน่วยกิต แม้ว่าโดยหลักการจะเก็บสะสมหน่วยกิตเอาไว้ได้ตลอดชีวิต แต่ในทางปฏิบัติจะทำเช่นนั้นได้หรือไม่ และหากหน่วยกิตเป็นสกุลเงินความรู้ นั่นแปลว่า ย่อมมีความผันพวน มีการเสื่อมค่า ลดค่า ได้เช่นกัน
  • ค่าใช้จ่าย การเก็บสะสมหน่วยกิต การโอน การแปลงและกิจกรรมต่างๆในระบบ ย่อมมีค่าใช้จ่าย ซึ่งทั้งผู้เรียน และสถาบันต่างต้องลงทุน แต่ยังไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจนว่า การลงทุนซึ่งใช้งบประมาณไม่น้อย คุ้มค่าหรือไม่

ในยุคที่สถาบันต่างได้รับผลกระทบรุนแรงจากดิจิทัล CBS ถือเป็นเครื่องมือ หรือโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการจัดการศึกษา (Management Infrastructure) ที่จะมาเปลี่ยนแปลงการศึกษารูปแบบเดิมๆไปสู่การศึกษากระบวนทัศน์ใหม่ แต่ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ผู้กำหนดนโยบาย ผู้พัฒนาระบบ ผู้ดูแลระบบ และผู้ใช้ระบบ ต้องมีส่วนร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพราะท้ายสุดแล้ว ไม่ว่าเงินสกุลใดๆก็ตาม หากปราศจากความน่าเชื่อถือแล้ว ก็ย่อมปราศจากคุณค่าด้วยเช่นกัน  

5.อ้างอิง

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (2565, 18 ตุลาคม).
รายงานการศึกษา ระบบอุดมศึกษาไทยในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว ฉบับที่ 1: การผลิตและพัฒนากำลังคน
ตามความต้องการของประเทศ. สอวช. https://www.nxpo.or.th/th/report/10563/ 

Junor, S. & Usher, A. (2008) Student Mobility and Credit Transfer:A National and Global 
Survey. The Educational Policy Institute.

Korde, B. (2022, October 10).  What Is Academic Bank Of Credits (ABC) In Higher Education 

Institutions?. MasterSolf. https://www.iitms.co.in/blog/ what-is-academic-bank-of-credit.html

Mi, H. & Li, G.C. (2007) Study on the Credit Ratifying System between American University and 

Community College—Take North Carolina State as Example. Comparative Education Review, 10, 46-50.

Zhou, M. (2019) Credit: Self-Growth, Dreaming of the Future—Exploration and Practice of 

Zhejiang Lifelong Education Credit Bank. Open Access Library Journal, 6, 1-9. doi: 10.4236/oalib.1105366.

Leave a Comment